e-Standard
- 18 มิ.ย. 64
-
3115
-
ใช้สิทธิ์ ใช้เสียงใน e-Meeting ที่ ETDA อยากแนะนำ
อย่างที่หลายคนกำลังเริ่มคุ้นเคยกับการประชุมออนไลน์ ทั้งในสถานการณ์โรคระบาดและเพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันก็มีกฎหมาย พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 เป็นกฎหมายกลางที่ให้การรองรับการประชุมตามกฎหมายให้สามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นอีกหน่วยงานที่สนับสนุนในเรื่องนี้ ทั้งการออกมาตรฐานระบบควบคุมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 และ ETDA ยังได้เป็นหน่วยงานรับรองระบบควบคุมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ทั้งในรูปแบบการประเมินด้วยตนเอง (Self-assessment) และการรับรองให้โดย ETDA (Certificate) (ดูอ่านรายละเอียด ที่นี่) เพื่อให้ผู้ใช้ระบบเกิดความมั่นใจในการใช้งานระบบ e-Meeting
นอกจากนี้ ในหลายการประชุม เรายังต้องมีการลงคะแนนเพื่อให้ได้มติการประชุมไปดำเนินการต่อ ทั้งแบบลงคะแนนโดยเปิดเผยและแบบลงคะแนนลับ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (20 มกราคม 2564) ETDA จึงได้ออก ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม’(ในบทความนี้ ขอเรียกสั้น ๆ ว่า ข้อเสนอแนะ e-Voting) ออกมาด้วย
ข้อเสนอแนะ e-Voting นี้ จัดทำขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้จัดการประชุมสามารถออกแบบรูปแบบการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voting) และการจัดการประชุมให้เหมาะสมและมั่นคงปลอดภัยได้ อำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ต้องมานั่งคิดเองและสุ่มเสี่ยงต่อการออกแบบการจัดประชุมและการลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจไม่ครบถ้วน ไม่มั่นคงปลอดภัย หรือมีประเด็นที่ต้องคำนึงที่ตกไป
หลักการพื้นฐาน 4 ข้อของ e-Voting
ในขั้นแรกเราจึงต้องมาทำความเข้าใจกับหลักการ e-Voting ทั้ง 4 ข้อก่อน โดยการออกแบบระบบการลงคะแนนจะวางอยู่บน
หลักการพื้นฐาน 4 ข้อคือ
- การลงคะแนนอย่างเท่าเทียม (Universal and Equal Suffrage) หลักการนี้ประกอบด้วย
- ผู้ลงคะแนนทุกคนใช้งานได้ง่าย
- คะแนนเสียงที่ลงไป (ไม่ว่าช่องทางไหน) มีการนำไปนับคะแนนอย่างเท่าเทียม และนำผลการลงคะแนนไปคำนวณอย่างถูกต้อง
- การลงคะแนนอย่างอิสระ (Free Suffrage) ประกอบด้วย
- ผู้ลงคะแนนได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นอย่างถูกต้อง เช่น กติกาของการลงคะแนน คำถามของการลงคะแนน
- ผู้ลงคะแนนแสดงเจตนาได้อย่างอิสระ คือไม่ถูกใครบังคับให้ลงคะแนน
- ผู้ลงคะแนนมีเวลาในการตัดสินใจที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าเพิ่งทราบกติกาหรือคำถามแล้วต้องลงคะแนนเลย โดยยังไม่ทันได้คิดพิจารณา
- ความเป็นส่วนตัวของการลงคะแนน (Privacy) มีการรักษาความลับของ (1) คะแนนเสียง และ (2) ข้อมูลของผู้ลงคะแนนก่อนที่เขาจะยืนยันการลงคะแนน และหากเป็นการลงคะแนนลับ จะให้ทราบได้เพียงจำนวนผู้ลงคะแนนและผลรวมของการลงคะแนน โดยไม่ให้ระบุตัวผู้ลงคะแนน
- ความมั่นคงปลอดภัยของระบบการลงคะแนน (Security) มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ (Information Technology Security) ที่ออกแบบบนพื้นฐานของ (1) การรักษาความลับ (2) การรักษาความครบถ้วน และ (3) การรักษาสภาพพร้อมใช้งาน
การเตรียมระบบการลงคะแนน 5 ขั้นตอน
เมื่อเราเห็นหลักการเบื้องต้นทั้ง 4 ข้อแล้ว เราจะพอเข้าใจมากขึ้นว่า e-Voting ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง แต่ในการประชุมนึง ถ้ามีคนแค่ 3 คนแล้วโหวตกัน ก็คงนับคะแนนและรู้เจตนาของคนโหวตได้ไม่ยาก แ
ต่หากเป็นการประชุมของบริษัทหรือสมาคมต่าง ๆ ที่มีคนจำนวนมากหรือเป็นการลงคะแนนลับ ก็จะต้องมีวิธีการที่ทำให้การประชุมมีประสิทธิภาพ เราจึงขอมาแนะนำตัวอย่างการจัดการการลงคะแนนแบบ e-Voting กัน
ขั้นที่ 1 การออกแบบระบบการลงคะแนน
เมื่อผู้จัดการประชุมทราบว่าต้องปรับการประชุมไปเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และมีวาระในการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ได้มติร่วมกันของการประชุมนั้น ขั้นตอนแรกคือ
การออกแบบระบบการลงคะแนน ซึ่งมีตัวอย่างการออกแบบ ดังนี้
- ศึกษาวาระการประชุม แล้วกำหนดคำถามและระบบสำหรับการลงคะแนนให้เข้าใจง่าย
- มีกติกาที่เข้าใจง่ายและใช้งานง่าย ไม่ทำให้คนเข้าใจผิด
- ในการลงทะเบียนอาจใช้เพียง Username ที่มีการยืนยันตัวตนไว้แล้วเพื่อระบุเพียงชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง สิทธิในการลงคะแนน และข้อมูลสำหรับติดต่อกรณีฉุกเฉิน เพื่อยืนยันสิทธิในการเข้าร่วมและลงคะแนนเท่านั้น เพื่อให้การประมวลผลและเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่จำเป็นสำหรับการลงคะแนนเท่านั้น ส่วนข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ประมวลผลหรือเก็บอย่างศาสนาหรือสถานะการแต่งงานก็ไม่มีการขอหรือนำมาใช้
- ระบบเปิดให้พนักงานสามารถเห็นจำนวนคนเข้าร่วมการประชุม จำนวนผู้ลงคะแนน และรายชื่อที่ลงคะแนนในตัวเลือกต่าง ๆ ในกรณีที่ไม่ใช่การลงคะแนนลับ เพื่อให้มีระบบตรวจสอบที่เปิดกว้างและครอบคลุม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อผลการนับคะแนน
- ระบบมีช่องทางให้ผู้ลงคะแนนสามารถแจ้งปัญหาในการใช้งานให้ผู้จัดการประชุมได้ สำหรับกรณีที่ระบบขัดข้อง
- ระบบการลงคะแนนทำงานร่วมกับระบบอื่นได้ เช่น การ Export File ผลคะแนนออกมาได้ หรือการทำงานร่วมกับโปรแกรมการประชุมออนไลน์อื่น ๆ ได้
- ระบบการลงคะแนนที่ออกแบบเพื่อรองรับความหลากหลาย เช่น คนที่บกพร่องทางการได้ยิน สามารถอ่านกติกาการลงคะแนนแทนได้ และมีการประกาศด้วยเสียง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกอ่าน
ขั้นที่ 2 การบริหารจัดการระบบ
เมื่อมีการ
ออกแบบระบบแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการ
จัดการระบบการลงคะแนนด้วย อาจมีตัวอย่างได้ดังนี้
- เมื่อขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลงคะแนน เช่น ชื่อ-นามสกุลของผู้ลงคะแนน ก็เก็บไว้ให้มั่นคงปลอดภัย ไม่ถูกคนอื่นรู้หรือเอาไปใช้ได้
- เลือกใช้ระบบที่มีคุณสมบัติด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ
- มีการกำหนดสิทธิการเข้าถึงส่วนต่าง ๆ ของระบบ เพื่อให้คนที่เข้าถึงข้อมูลเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
- มีการปรับปรุงและอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นประจำและต่อเนื่อง
- หากมีนำข้อมูลออกไปนอกระบบ (การจัดเก็บ หรือใช้งานคะแนนเสียงและข้อมูลส่วนบุคคลภายนอกระบบ) ควรมีการเข้ารหัสลับ
- หากมีการเข้ารหัสลับ ผู้จัดการลงคะแนนควรจัดการดูแลข้อมูลที่ใช้ประกอบการเข้ารหัสลับทั้งหมดให้มั่นคงปลอดภัย
- ผู้จัดการลงคะแนนกำหนดขั้นตอนให้ผู้ดูแลอุปกรณ์หรือระบบให้แจ้งตนทราบในทันที เมื่อมีภัยคุกคามที่อาจทำให้ระบบการลงคะแนนได้รับผลกระทบหรือความเสียหาย
ขั้นตอนที่ 3 การเตรียมการก่อนการลงคะแนน
เมื่อเตรียมการทั้งการออกแบบระบบและการจัดการระบบที่ดีแล้ว
ก่อนการลงคะแนนก็ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง โดยมีตัวอย่างดังนี้
- ก่อนการลงคะแนน มีการแจ้งให้ผู้ลงคะแนนอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย และเป็นลายลักษณ์อักษรถึงขั้นตอนการเข้าร่วมและลงคะแนน วิธีใช้งานระบบ กฎกติกา และตารางเวลาของการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งแจ้งให้ทราบว่า การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลผูกพันเช่นเดียวกับการลงคะแนนแบบปกติ
- จัดระบบการลงคะแนนให้สามารถระบุตัวตนผู้ลงคะแนนได้ เพื่อให้สามารถระบุได้ว่าบุคคลดังกล่าวมีสิทธิในการลงคะแนนหรือไม่ ก่อนที่จะอนุญาตให้สิทธิในการเข้าใช้งานระบบการลงคะแนน
- แต่ถ้าระบบการลงคะแนนเป็นระบบเดียวกันกับระบบควบคุมการประชุม และมีการระบุตัวบุคคลไว้แล้ว ก็อาจไม่จำเป็นต้องมีการระบุตัวตนผู้ลงคะแนนก่อนลงคะแนนอีก เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพื่อความสะดวก
ขั้นตอนที่ 4 การลงคะแนน
เมื่อมีระบบแล้ว มีการจัดการแล้ว มีการเตรียมการก่อนการลงคะแนนแล้ว ก็ถึง
เวลาที่ต้องลงคะแนนแต่การลงคะแนน ไม่ใช่แค่การโหวตกันเฉย ๆ แล้วจบเลย ผู้จัดการประชุมอาจลองศึกษา ตัวอย่างแนวทางดังนี้
- มีการอธิบายข้อมูลที่เกี่ยวกับการลงคะแนนอย่างถูกต้องครบถ้วน เช่น คำถาม ตัวเลือก ระยะเวลาในการตัดสินใจ หรือคำอธิบายของแต่ละตัวเลือก
- กำหนดเวลาในการตัดสินใจแก่ผู้ลงคะแนนอย่างเพียงพอในแต่ละวาระ และเมื่อจะหมดเวลาก็มีประกาศให้ชัดเจน
- การลงคะแนนควรมีช่องทางให้ผู้ลงคะแนนแก้ไขข้อผิดพลาดในการลงคะแนนก่อนยืนยันลงคะแนนได้ เพื่อให้การลงคะแนนนั้นตรงกับเจตนาของผู้ลงคะแนนจริง ๆ
- อาจมีการแจ้งเตือนหรือให้คำแนะนำผู้ลงคะแนนในกรณีที่ผู้ลงคะแนนได้เลือกตัวเลือกในลักษณะที่เป็นการลงคะแนนที่ไม่ถูกต้อง เช่น การเลือกตัวเลือกเกิน (ให้เลือก 1 ข้อ แต่ไปเลือก 2 ข้อ)
- ไม่แสดงผลการลงคะแนนต่อสาธารณะก่อนสิ้นสุดการลงคะแนนในแต่ละวาระ
- รักษาความลับของการลงคะแนนที่ผู้ลงคะแนนบันทึก ก่อนมีการยืนยันการลงคะแนน
- มีการแจ้งให้ผู้ลงคะแนนทราบ เมื่อลงคะแนนสำเร็จและเมื่อสิ้นสุดขั้นตอนการลงคะแนนทั้งหมด
ขั้นตอนสุดท้าย การจัดการคะแนนเสียงและการนับคะแนน
- หากเป็นการลงคะแนนลับ ให้ใช้วิธีการนับที่ทำให้ทราบจำนวนผู้ลงคะแนนและผลการลงคะแนน แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ลงคะแนนได้
- คะแนนเสียงที่ลงคะแนนจากทุกช่องทางได้รับการนับอย่างเท่าเทียม แต่ต้องแน่ใจได้ว่าไม่มีการลงคะแนนซ้ำซ้อนโดยผู้ลงคะแนนคนเดิม
- ผู้ลงคะแนนสามารถตรวจสอบคะแนนที่ตนลงไปได้ ทั้งก่อนและหลังการปิดลงคะแนน
- มีหลักฐานหรือ Log (บันทึกเหตุการณ์) ที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีการที่เป็นอิสระจากระบบการลงคะแนนและสามารถแสดงได้ว่า ผลการลงคะแนนมีการคำนวณอย่างถูกต้องและมาจากผู้ลงคะแนนที่มีสิทธิลงคะแนนในวาระนั้น ๆ
ทั้งหมดใน 5 ขั้นตอนนั้น เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่าย แต่หากอยากอ่านคำแนะนำฉบับเต็มของ ETDA สามารถเข้าไปดูได้ ที่นี่
e-Meeting ได้ทั้งที ถ้าจะใช้ e-Voting ด้วย ต้องทำไง