TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

เจาะลึก กฎหมายใหม่ DPS  เกี่ยวกับใครบ้าง?

Digital Platform Services Documents
  • 03 พ.ย. 66
  • 1561

เจาะลึก กฎหมายใหม่ DPS เกี่ยวกับใครบ้าง?

การมาของโควิดทำให้คนไทยค่อย ๆ ปรับตัวสู่ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ทั้งการสั่งอาหาร การเรียน การทำงาน การซื้อของออนไลน์ จนไปถึงการเสพความบันเทิงผ่านการสตรีมมิ่ง  หลายธุรกิจเองก็ต่างปรับตัวหันมาให้บริการผ่านแอปและออนไลน์มากขึ้น เราจึงได้เห็นแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางเกิดขึ้นมากมาย เพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภคด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดการซื้อขาย รวมถึงให้บริการผ่านออนไลน์ ซึ่งเราเรียกแพลตฟอร์มเหล่านี้ว่า บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของหลายคนไปเรียบร้อยแล้ว

รู้หรือไม่ว่า ปัญหาอันดับหนึ่งที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ การซื้อขายออนไลน์

แน่นอนว่าเมื่อมีคนเข้ามาใช้งานมากขึ้น ก็จะมีปัญหาต่าง ๆ ตามมา ทั้งเรื่องของความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวในการใช้งาน จนไปถึงการฉ้อโกงต่างๆ จากสถิติของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ 1212 ETDA พบว่า ปี 2565 มีปัญหาร้องเรียนสูงถึง 59,794 ครั้ง เรียกว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ราว 10% (54,348 ครั้ง) เมื่อมาดูสถิติปี 2666 มีปัญหาร้องเรียนตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 ถึง 53,752 ครั้ง  โดยปัญหาที่มีการร้องเรียนมากที่สุดก็คือ ‘การซื้อขายออนไลน์’ ตามมาด้วยเว็บไซต์ผิดกฎหมาย สอบถามข้อสงสัย และแจ้งเบาะแส แก๊ง Call Center SMS หลอกลวง
 
แต่ปัญหาที่เจอคือ หลายครั้งที่เกิดปัญหากับผู้ใช้บริการ ทั้งปัญหาการซื้อขาย สินค้าไม่ตรงปก การฉ้อโกง แต่การติดต่อกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลบางรายทำได้ยากมาก ส่งผลให้การตามตัวคนทำผิดทำได้ล่าช้า ผู้เสียหายเองก็เข้าสู่กระบวนการเยียวยาได้ล่าช้าตามไปด้วย
 
ฝั่งของผู้ประกอบการเองบางครั้งก็พบว่าบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นมีการจัดเรตติ้งสินค้าที่ไม่เป็นธรรมร้านค้ารายใหญ่ๆ ที่ระบบจะผลักดันให้เห็นก่อนร้านค้ารายเล็ก ๆ ทั้งที่เป็นสินค้าชนิดเดียวกัน นั่นจึงทำใ้ห้เกิดแนวคิดในการออกกฎหมายเพื่อมาช่วยกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น

พอได้ยินคำว่ากฎหมายหลายคนจะคิดว่ามันคือการ ‘ควบคุม’ หรือเปล่า
แต่ในความจริงก็ต้องบอกว่ามันคือการเกิดมา ‘คุ้มครอง’ มากกว่า

แต่ก่อนอาจจะเป็นเพียงแค่การแจ้งปัญหา ปรึกษาหาแนวทางการแก้ไข แต่เมื่อมีกฎหมายดูแลชัดเจน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นก็จะสามารถติดตามได้ จนไปถึงการหาทางออกอย่างถูกต้องและเป็นธรรม

ETDA-1.png

แล้วเป้าหมายของกฎหมายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีไว้ทำไม?
 
จากที่มีการประกาศกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา ส่งผลให้ ETDA หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีบทบาทตาม ‘กฎหมายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล’ ที่ทำหน้าที่ในการเข้ามาช่วยกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งการดูแลคุ้มครองผู้ใช้บริการ เพื่อให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตลอดจนดำเนินงานตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น…

  • กำหนดให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นธุรกิจบริการที่ต้อง ‘แจ้งให้ทราบ’
  • กำหนด ‘หลักเกณฑ์’ การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และการควบคุมดูแล เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
  • กำหนด ‘กลไกความร่วมมือ’ ระหว่างหน่วยงานของรัฐและการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ‘จัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม’ สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เริ่มต้นอย่างแรกหลายคน คงจะสงสัยว่า คำว่า ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ในที่นี้หมายถึงกลุ่มไหนบ้าง?
ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แต่ความหมายมากกว่านั้นเยอะ  บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล คือ “บริการสื่อกลาง” ที่ทำให้บุคคล 2 ฝ่ายขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้บริโภค หรือ ผู้ใช้บริการอื่น ๆ ได้มาเชื่อมต่อกันบนบริการดังกล่าว
 
จากนิยามนี้เราจะเห็นว่าธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นครอบคลุมหลายอุตสาหกรรมมาก ๆ ไม่ใช่แค่อีคอมเมิร์ซเท่านั้น  ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์, สื่อสังคมออนไลน์ อย่าง Facebook, Twitter, LINE, TikTok, Search Engine อย่าง Google เองก็ใช่เหมือนกัน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ จนไปถึงบริการสตรีมมิ่งอย่าง YouTube เป็นต้น
 
แล้วกรณีไหนที่ไม่นับว่าเป็นธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดูง่าย ๆ ค่ะว่าบริการนั้นเป็นสื่อกลางระหว่างคนหรือผู้ให้บริการทั้งสองฝั่ง ถ้าไม่มีสื่อกลางก็ไม่ถือว่าเป็น “ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ตามนิยามที่กฎหมายกำหนดไว้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ถ้าเราขายสินค้าของเราเอง ผ่านเว็บของเราเอง นั่นหมายความว่า คนขายกับแพลตฟอร์มนั้นเป็นบุคคลเดียวกัน ไม่ใช่ตัวกลาง ดังนั้นเคสนี้จึงไม่ถือเป็น “ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล”
 
ถามว่าแล้วใครบ้าง ที่จะต้องรู้เรื่องนี้?
หลักๆ คือ ผู้ให้บริการหรือผู้ประกอบการธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จำเป็นต้องรู้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะกฎหมายนี้ใช้งานเต็มรูปแบบแล้วในวันที่ 21 สิงหาคม 2566
 
ส่วนผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป (ตามคำนิยามของกฎหมาย) ที่เปิดให้บริการก่อนวันที่ 21 สิงหาคม 2566  ต้องมาแจ้ง ETDA ภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 นี้ หากไม่แจ้งภายในเวลาดังกล่าว จะมีโทษตามกฎหมายทั้งจำและปรับ
 

ธุรกิจหรือบริการไหนต้องมาแจ้งให้ทราบบ้าง?
แม้เข้าข่ายตามนิยาม "บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล" แต่ผู้ที่มีหน้าที่แจ้งให้ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจและมีหน้าที่ตาม ‘กฎหมายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล’ นี้ เฉพาะบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (รายได้เกิน หรือจำนวนผู้ใช้บริการเกิน)
  1. ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทยเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือ
  2. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคลที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทยเกิน 50 ล้านบาทต่อปี หรือ
  3. มีจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทยเกิน 5,000 คนต่อเดือน โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่ ETDA ประกาศกำหนด 
นอกจากนั้นกฎหมายนี้ยังครอบคลุมถึงแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก เพราะเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมประเทศได้
  • บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่ ซึ่งมีรายได้จากการให้บริการในไทย แต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือรวมทุกประเภทบริการเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือมียอดคนใช้งานแพลตฟอร์มต่อเดือนเกินร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรไทย
  • บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตามความเสี่ยง ซึ่งมีความเสี่ยงและมีผลกระทบในระดับสูง
  • บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะในด้านสำคัญ เช่น บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ สุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม การพลังงาน การสื่อสารและโทรคมนาคม การขนส่งและโลจิสติกส์ 
ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ มีหน้าที่ไปดูแลเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยง สร้างมาตรการการบริหารและมีแนวทางจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างดี 
 
ส่วนแพลตฟอร์มไหนได้รับการยกเว้นบ้าง?
  1. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
  2. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) 
  3. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการโดยหน่วยงานของรัฐที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าโดยตรง หรือไม่เป็นการให้บริการที่มีลักษณะเพื่อแสวงหากำไรเป็นหลักและได้แจ้งให้ ETDA ทราบแล้ว

 
แล้วคนทั่วไป อย่างเรา ๆ ร้านค้าต่าง ๆ หรือคนไลฟ์ขายของ ต้องมาแจ้งให้ทราบไหม?
จะเห็นว่ากฎหมายนี้จะเน้นกำกับดูแล ‘ธุรกิจแพลตฟอร์มบริการดิจิทัล’ ที่เป็น ตัวกลางระหว่างผู้ใช้บริการ ผู้บริโภค และผู้ประกอบการเจ้าของสินค้าหรือบริการ เท่านั้น ดังนั้นถ้าคุณเป็นคนทั่วไปที่เปิดร้านขายของบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Shopee หรือ Lazada รวมถึง คนที่ไลฟ์สดขายของผ่าน Facebook หรือ IG หรือแม้แต่การทำคอนเทนท์ขายของบน YouTube หรือ Tiktok  คนเหล่านี้ ไม่ได้เข้าข่ายผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จึงไม่ต้องมาลงทะเบียนและให้ข้อมูลตามกฎหมายค่ะ สบายใจได้
 
ถามว่าข้อมูลที่จะต้องแจ้งให้ทาง ETDA ทราบมีอะไรบ้าง?
ข้อมูลที่จะต้องแจ้ง ETDA ก็จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นทั้งหมด เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ หากเป็นแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในไทยก็จะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสานงานในราชอาณาจักร และคำยินยอมให้ทาง ETDA เข้าถึงข้อมูลที่ได้
 
หน้าที่อื่นๆ ที่กฎหมายกำหนด เพื่อช่วยกำกับดูแลตามความเสี่ยงต่อผู้ใช้บริการ
กฎหมายนี้ไม่ใช่แค่การแจ้งการประกอบธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีการกำหนดหน้าที่อื่น ๆ เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องมีมาตรการบรรเทาความเสียหายหรือหรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ เริ่มตั้งแต่มีช่องทางร้องเรียน ช่องทางช่วยเหลือและมาตรการบรรเทาความเสียหายหรือเยียวยา โดยบริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการในวงกว้าง จะต้องประเมินความเสี่ยงในการใช้งานแพลตฟอร์ม เพื่อวางแผนรับมือปัญหาที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งมีมาตรการการบริหาร ความเสี่ยงดังกล่าว มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบ การจัดการภาวะวิกฤติ การแต่งตั้ง เจ้าหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย การตรวจสอบโดยผู้ตรวจประเมินภายนอก


ในกรณีที่เป็นธุรกิจแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะ หากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการ จะต้องฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการด้วย โดยมีระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นอย่างน้อยสิบห้าวัน รวมถึงต้องแจ้งให้ทาง ETDA ทราบด้วย


แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกธุรกิจจะประสบความสำเร็จเพราะการแข่งขันในตลาดบางกลุ่มอาจจะมีการแข่งขันสูง ดังนั้น กฎหมายใหม่นี้จึงระบุหน้าที่ ในกรณีที่เลิกประกอบธุรกิจด้วยเพื่อลดผลกระทบจากผู้ใช้บริการ หากต้องเลิกกิจการต้องแจ้งล่วงหน้ากับ ETDA ล่วงหน้า ถ้าเป็นแพลตฟอร์มทั่วไปต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน แต้ถ้าเป็นกลุ่ม Marketplace, Search engine หรือแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อผู้ใช้บริการจำนวนมาก ต้องแจ้งล่วงหน้า 120 วัน พร้อมแผนและมาตรการบรรเทาความเสียหายและชดใช้หรือเยียวยาผู้ใช้บริการก่อนเลิกประกอบธุรกิจ
ทั้งหมดนี้ถือเป็นความพยายามของหน่วยงานภาครัฐ โดยมี  ETDA เป็นหน่วยงานหลักที่มุ่งส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการทำแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) และการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม (Self Regulation) ภายใต้มาตรฐานสากล ทำให้เกิดการยอมรับร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มขนาดไหน เล็กหรือใหญ่ 
 
เน้นให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการกำกับดูแลตัวเองที่ดี ทำให้เกิดความเท่าเทียม และควบคุมความเสี่ยงในการให้บริการได้อย่างเหมาะสม  โดยไม่เป็นการเพิ่มภาระโดยไม่จำเป็นแก่ผู้ประกอบธุรกิจ
 
และในอีกมุมหนึ่ง ‘กฎหมายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล’ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิด  Data Governance ขึ้นจริง 
 
ETDA เองก็จะนำข้อมูลบางส่วนที่สามารถเปิดเผยได้ มาวิเคราะห์เทรนด์ตลาดธุรกิจในไทย เพื่อเอาไปพัฒนาให้เกิดมาตรการหรือแนวทางเสนอแนะที่เหมาะสมกับสังคมไทยเรา
 
เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของกฎหมายนี้ก็จะเป็นแนวทางการปฏิบัติใหม่ เพื่อให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ผู้ใช้บริการ ผู้บริโภคและภาครัฐ อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ การได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็น การมีมาตรการที่ดีในการป้องกันปัญหา และแน่นอนการสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นในงานใช้งาน เพื่อส่งผลให้เป็นการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้เติบโต
 
 

Rating :
Avg: 5 (3 ratings)