TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

Knowledge Sharing

ETDA เปิดเวทีปลดล็อกทุกข้อสงสัย ดัน ‘e-Receipt’ ยกระดับงานเบิกจ่ายภาครัฐสู่ดิจิทัล

Digital Service Documents
  • 24 เม.ย. 68
  • 38

ETDA เปิดเวทีปลดล็อกทุกข้อสงสัย ดัน ‘e-Receipt’ ยกระดับงานเบิกจ่ายภาครัฐสู่ดิจิทัล

หากยังมีใครติดภาพจำว่า “หน่วยงานภาครัฐล่าช้า ไม่ทันสมัย” อาจต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ เพราะหลังจากนโยบาย “รัฐบาลดิจิทัล” ถูกประกาศใช้ หลายหน่วยงานก็เร่งปรับระบบภายในและยกระดับบริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างจริงจัง โดยหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือการเปลี่ยนจากเอกสารกระดาษเป็น e-Document โดยเฉพาะ e-Receipt หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำลังได้รับการผลักดันให้ใช้แทนกระดาษ เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว โปร่งใส และลดภาระงานซ้ำซ้อน แม้หลายๆ หน่วยงานก็นำมาใช้แล้ว แต่บางหน่วยงานก็อาจยังมีคำถาม “ตกลง e-Receipt ใช้ได้จริงแค่ไหน?” “ใช้แล้วจะเบิกจ่ายได้หรือไม่?” และ “หากต้องการใช้บ้างต้องทำอย่างไร?” และอีกหลายข้อสงสัยที่เกิดขึ้น

ETDA-ภาพประกอบบทความ-2.jpg

เพื่อคลายข้อสงสัยนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ที่มุ่งส่งเสริมให้ภาครัฐเกิดการเปลี่ยนผ่านด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านกลไกของกฎหมาย มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่พลาดเปิดเวที ชวนผู้เชี่ยวชาญจากหน่วงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กรมบัญชีกลาง ซึ่งมีบทบาทโดยตรงในการกำหนดกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวทางการใช้งาน        e- Receipt ในการเบิกจ่ายภาครัฐ และ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตัวแทนหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในการนำ e-Receipt มาใช้ มาร่วมพูดคุยคลายทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับ e-Receipt ใน ETDALive ไลฟ์กำลังดี EP.2: “ติดสปีด e-Services รัฐ เบิกจ่ายออนไลน์ง่าย กับ e-Receipt”


e-Receipt คืออะไร ดีกว่า สะดวกกว่า ใบเสร็จแบบกระดาษ?
e-Receipt หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ คือเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานในการชำระเงิน ซึ่งจัดทำขึ้นในรูปแบบดิจิทัล สามารถใช้แทนใบเสร็จแบบกระดาษได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะภายใต้กรอบ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ที่ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐหันมาใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารกระดาษ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการให้บริการแก่ประชาชน ข้อดีของ e-Receipt มีมากกว่าการเปลี่ยนรูปแบบเอกสาร เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนด้านกระดาษและการพิมพ์แล้ว ยังช่วยลดภาระด้านการจัดเก็บและค้นหาเอกสาร ลดความเสี่ยงจากการสูญหายหรือถูกปลอมแปลง รวมถึงช่วยให้กระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณมีความรวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้มากขึ้น ส่งผลให้หน่วยงานสามารถบริหารจัดการภายในได้อย่างคล่องตัว และเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนที่มารับบริการ

ETDA-ภาพประกอบบทความ-6.jpg
หมดข้อกังวลใจ!  e-Receipt ปลอดภัย เชื่อถือได้
แม้ e-Receipt จะมีประโยชน์และตอบโจทย์ แถมหน่วยงานรัฐยังเปิดไฟเขียวผลักดันเต็มที่ แต่หลายๆ หน่วยงานก็ยังลังเลที่จะเปลี่ยนไปใช้ ด้วยเหตุผลหลัก ๆ ทั้ง ข้อจำกัดด้านความเข้าใจ โครงสร้างพื้นฐานไอทีที่อาจยังไม่พร้อมรองรับ และไม่มั่นใจว่าหากใช้ e-Receipt จะปลอดภัยหรือไม่ หรือใช้ทำเบิกจ่ายได้จริงหรือไม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจาก ETDA ยืนยันว่า หากดำเนินการถูกต้องตามมาตรฐานที่ ETDA กำหนดไว้ ปลอดภัย เชื่อถือได้ กฎหมายรองรับอย่างแน่นอน เพราะ e-Receipt ที่ใช้เบิกจ่ายได้ ต้องมีการลงนามด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือ อย่าง  Digital Signature ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานกลางที่เรียกว่า CA (Certificate Authority) ที่ได้รับการรับรองจาก ETDA ซึ่งในการลงนามนี้ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ลงนามหรือองค์กรก่อนว่า เป็นบุคคลหรือหน่วยงานจริง และทุกครั้งที่ลงนามจะต้องมีการยืนยันตัวตนที่รัดกุม เช่น กรอก PIN หรือรหัสผ่าน นอกจากนี้ยัง มีระบบที่ตรวจสอบได้ว่าการลงนามด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ใน e-Receipt นั้นถูกต้องหรือไม่ ถูกเปลี่ยนแปลงภายหลังหรือเปล่า หากมีการเปลี่ยนแปลง เช่น แก้ไขตัวเลขหรือวันที่ ระบบจะสามารถตรวจจับได้ทันที

ETDA-ภาพประกอบบทความ-4.jpg
“โรงพยาบาลรามาธิบดี” เริ่มใช้ e-Receipt แล้ว
แม้การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ e-Receipt ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่หลายหน่วยงานก็เดินหน้าอย่างจริงจัง หนึ่งในต้นแบบความสำเร็จคือ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่สามารถปรับเปลี่ยนระบบจากกระดาษมาเป็น  e-Receipt ได้เต็มรูปแบบในปี 2567 ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการวางแผนและเตรียมการ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 โดยเริ่มจากการศึกษากฎระเบียบของกรมบัญชีกลาง, ETDA และหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้เข้าใจแนวทางที่ถูกต้องในทุกมิติ จากนั้นจึงพัฒนาระบบ e-Service ที่เชื่อมโยงการให้บริการต่าง ๆ เข้ากับระบบ e-Receipt พร้อมปรับโครงสร้างพื้นฐานไอทีให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ออกแบบใบเสร็จให้ตรงตามหลักเกณฑ์ และใช้ Digital Signature ผ่าน CA ที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้ ยังผสานระบบกับแอปฯ ชำระเงินของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับใบเสร็จผ่านสมาร์ตโฟนได้ทันที โดยไม่ต้องใช้กระดาษ พร้อมวางระบบจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลอดภัย ตรวจสอบย้อนหลังได้ และเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) 

อีกหนึ่งหัวใจสำคัญคือ การสื่อสารแบบรอบด้าน กับบุคลากรภายใน ผู้รับบริการ หน่วยงานต้นสังกัด และ Third Party กว่า 100 แห่ง เพื่อสร้างความเข้าใจและความมั่นใจ ซึ่งถือเป็นส่วนที่ท้าทายที่สุด จนนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ได้คือ การลดต้นทุน ลดภาระงาน เพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้บริการอย่างเห็นได้ชัด จนกลายเป็นต้นแบบของหน่วยงานรัฐยุคใหม่ที่กล้าก้าวข้ามกรอบเดิม และปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มภาคภูมิ
ETDA-ภาพประกอบบทความ-5.jpg

4 กลไกต้องมี หากอยากใช้ e-Receipt
จากความสำเร็จของโรงพยาบาลรามาธิบดี สามารถสรุปได้ว่า หากหน่วยงานใดสนใจที่จะเริ่มต้นใช้ e-Receipt จำเป็นต้องมี 4 องค์ประกอบหลักๆ ดังนี้

  • ต้องมี e-Service ก่อน ถึงจะมี e-Receipt ได้  การออก e-Receipt จะทำได้ก็ต่อเมื่อหน่วยงานมี ระบบ e-Serviceที่รองรับการรับ-จ่ายเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพราะใบเสร็จจะต้องเชื่อมโยง กับกระบวนการรับชำระผ่านระบบเท่านั้น หากยังใช้เงินสดหรือระบบ manual จะไม่สามารถออก e-Receipt ได้
  • ต้องศึกษากฎระเบียบและมาตรฐานให้รอบด้าน ทั้งระเบียบของกรมบัญชีกลาง เช่น หนังสือเวียน ว.39 และ ว.3 ที่กำหนดรูปแบบใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ รูปแบบไฟล์ที่ต้องใช้ และข้อมูลสำคัญที่ต้องมีบน e-Receipt รวมถึงมาตรฐานที่กำหนดโดย ETDA และข้อบังคับอื่นๆ ของหน่วยงานต้นสังกัด
  • ต้องมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ที่เชื่อมโยงกระบวนการต่างๆ เข้าด้วยกันตั้งแต่การรับเงิน การออกใบเสร็จ การส่งมอบใบเสร็จผ่านช่องทางดิจิทัล ไปจนถึงการจัดเก็บข้อมูลและดูแลรักษาความปลอดภัย
  • ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องวางแผนแผนสื่อสารอย่างรอบด้าน ประชาสัมพันธ์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งบุคลากรภายใน หน่วยงานภายนอก และประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อลดข้อกังวล สร้างความเข้าใจและมั่นใจในการใช้บริการ

กรมบัญชีกลาง X ETDA พร้อมลุยสร้างความมั่นใจ ชวนรัฐ-เอกชนใช้ e-Receipt
สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่สนใจ อยากใช้ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร กรมบัญชีกลาง และ ETDA พร้อมให้คำแนะนำและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดย กรมบัญชีกลาง ในฐานะหน่วยงานกำหนดนโยบายหลัก ได้วางหลักเกณฑ์กลางและองค์ประกอบของ e-Receipt ที่สามารถใช้ในการเบิกจ่ายงบประมาณได้ไว้อย่างชัดเจนในหนังสือเวียน ว.39 และ ว.3 ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ สามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการได้ทันที พร้อมทั้งมีการสื่อสาร ชี้แจง และตอบข้อสงสัยกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อคลายความกังวล โดยเฉพาะประเด็นที่หลายหน่วยงานยังไม่มั่นใจว่า e-Receipt จะสามารถใช้เบิกงบได้จริงหรือไม่

ขณะเดียวกัน ETDA ก็ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในทุกขั้นตอนของการใช้ e-Receipt ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการใช้งานจริง โดยสนับสนุนทั้งด้านกฎหมาย เทคนิค มาตรฐาน และความปลอดภัย เช่น

  • ให้คำปรึกษาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้ง ด้านกฎหมายและด้านเทคนิค มาตรฐานข้อมูล และความปลอดภัย
  • การใช้งาน Digital Signature ที่ได้มาตรฐาน พร้อมรายชื่อ ที่ผ่านการรับรองจาก ETDA บนเว็บไซต์

นอกจากนี้ ETDA ยังมีเครื่องมือสนับสนุนฟรี เช่น TEDA Web Validation Portal สำหรับตรวจสอบความถูกต้องของ e-Receipt พร้อมกันนี้ยังจัดทำคู่มือ How-To, จัดอบรม และเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจและความมั่นใจให้กับหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ e-Receipt อย่างมั่นคง ปลอดภัย และถูกต้องตามกฎหมาย

ถึงตอนนี้ คำถามสำคัญจึงไม่ใช่ “e-Receipt ใช้ได้จริงไหม?” แต่คือ “คุณพร้อมเริ่มหรือยัง?”เพราะสิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การเรียนรู้และลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ แต่คือความกล้าตัดสินใจที่จะลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง ติดตามความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมที่ ETDA Thailand

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)