TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

Knowledge Sharing

ปลดล็อกพลังของบล็อกเชนเพื่อ Supply Chain

Digital Service Documents
  • 24 ก.พ. 63
  • 2227

ปลดล็อกพลังของบล็อกเชนเพื่อ Supply Chain

วิลาสินี จันทร์นฤกล Manager and Blockchain Champion แห่ง บริษัท ปูนชิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG พร้อม นคารัตน์ ป้อมตรี Head of Business Process Improvement และ วัทธยา พรพิพัฒน์กุล Head of People and Business Development ได้มาแชร์บนเวทีอบรม “ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain” ซึ่ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า

SCG มี 3 ธุรกิจหลักคือ Chemicals, Packaging และ Cement-Building Materials ซึ่งขนาดค่อนข้างใหญ่และค่อนข้างหลากหลาย เมื่อทำงานไปเรื่อย ๆ พอถึงจุดจุดนึง หลาย ๆ เรื่องดูเทอะทะ ยืดย้วย กว่าจะตรวจสอบไปจนอนุมัติ แล้วต้องตรวจสอบอีก หน้าที่ของเธอที่ได้รับมอบหมายมาคือ ให้เข้าไปดูว่าจุดไหนในกระบวนการธุรกิจที่จะปรับปรุงได้บ้าง ทำให้องค์กรลีน (Lean) และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Blockchain_SCG_at_ETDA1.png  Blockchain_SCG_at_ETDA2.png

เรียนรู้ร่วมกัน ผ่าน Agile

ต่อมา ธนาคารไทยพาณิชย์ ผ่านทางบริษัทลูกคือ Digital Ventures ได้เข้ามาหารือว่า ต้องการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับธุรกิจจริง ๆ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในเรื่องอะไร เนื่องจากบล็อกเชนอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ทุกเรื่อง ทาง SCG ก็มีองค์ความรู้ในเรื่องธุรกิจ แม้มั่นใจว่าธุรกิจที่หลากหลายนั้นครอบคลุม แต่เรื่องเทคโนโลยี SCG ก็ไม่ได้เป็นที่หนึ่ง แต่ทาง Digital Ventures นั้นเก่งเรื่องเทคโนโลยี เลยเกิดความร่วมมือแบบเรียนรู้ร่วมกัน โดยนำความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายมาผสานกัน

"มาถึงจุดที่ว่า เราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง แต่เราต้องรู้ว่าเราเก่งเรื่องอะไร และคนอื่นที่เราจะไปผสานความร่วมมือด้วยเขาเก่งเรื่องอะไร ก็เลยเกิด Collaborative Learning กัน" 

Blockchain_SCG_ETDA_collaboration.jpg

วิลาสินี กล่าวว่า บล็อกเชนยังเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย และด้วยลักษณะของมันคือ ไม่ได้ทำเอง ใช้เอง อยู่คนเดียว ต้องทำแล้ว คนอื่นใช้ด้วยได้ ทำแล้วต้องเกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่มีทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ภาครัฐและธนาคารที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น จุดแรกที่คิดคือ ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนไม่เยอะมาก เพราะถ้าเยอะมากเกิน อาจทำให้เรื่องนี้ไม่เกิด

"เพราะเราอยากจะทดสอบว่ามันใช้ได้ไหม แต่ถ้าง่ายเกินไป ก็ไม่ได้พิสูจน์อะไรอีก หากเจอเรื่องยาก ๆ แล้วจะจัดการได้ไหวไหม จึงมาจบตรงเรื่องกระบวนการสั่งซื้อ วางบิล และชำระเงิน ในประเทศ"

และเนื่องจากธุรกรรมเวลาซื้อขายกับ Supplier เช่น ซื้อกับ Supplier A ทาง Supplier B ก็ไม่ควรรู้ว่า ซื้ออะไรกันกับ Supplier A ด้วยราคาเท่าไร เพราะฉะนั้นแพลตฟอร์มที่เลือก ต้องเป็นแพลตฟอร์มที่เป็น Private Network ไม่เหมือนเงิน Bitcoin ที่มีเงินในกระเป๋าเท่าไร ทุกคนรู้หมด

"เพราะเราเป็นภาคธุรกิจ เวลาทำธุรกรรมต่าง ๆ กับใคร ก็ต้องเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่จะรู้ข้อมูลตรงนี้ จึงเลือกแพลตฟอร์มที่รองรับลักษณะที่เป็น Private Network"

สุดท้ายคือ จะทำอย่างไรให้เกิดหรือให้รู้ได้เร็วที่สุดว่าใช่หรือไม่ แต่เดิมการนำแผนไปสู่การปฏฺิบัติจริงหรือ Implement ทุกคนอาจจะคุ้นชินกับการใช้เวลาเป็นปี ซึ่งพอจะใช้จริงทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว เพราะโลกยุคนี้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถใช้เวลาเยอะขนาดนั้นได้แล้ว ผลสรุปจึงกำหนดวิธีทำแบบ Agile โดยค่อย ๆ วาง Roadmap ว่าจะทำอะไรบ้าง ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ว่าซอยให้เป็นงานย่อย ๆ

ตั้งหลักด้วย Business Challenge  

Blockchain_SCG_ETDA_Business_Challenges.jpg


พอตั้งต้นได้กระบวนการที่จะทำ เพื่อไม่ให้เกิดการหลงทางระหว่างการพัฒนา จึงได้กำหนด Business Challenge ว่าอยากแก้ปัญหาอะไร 5 ข้อใหญ่ ๆ คือ

  1. Long Process เพราะพบว่ามีกระบวนการที่ยาวนานมาก ตั้งแต่เริ่มเสนอราคา เปิด PO ส่งของ วางบิล ทำเรื่องขอจ่ายเงิน ไปจนถึงสุดท้ายอนุมัติให้จ่ายเงิน ถึงจะโอนเงินให้ Supplier ได้ 
  2. High Effort คือการตรวจสอบในทุกขั้นตอน จนกว่าเงินจะออกจากบริษัทไป เป็นการตรวจที่เยอะและตรวจแบบใช้คน (Manual) ด้วย
  3. Millions of Paper Invoices ไม่ได้มีระบบมาช่วย ทุกอย่างเป็นกระดาษหมด สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางคือเอกสารเยอะมากที่จะต้องเก็บตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เพื่อให้คนตรวจสอบ
  4. High Cost of Operations ด้วย 3 ข้อข้างต้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างเยอะ
  5. สุดท้ายคือ Lack of Visibility เช่น เมื่อมีการวางบิล จะไม่รู้เลยว่า กระดาษของเขาไปอยู่ในส่วนไหนของบริษัทเราแล้ว ได้รับพิจารณาหรือยัง หรือทำอะไรผิดหรือเปล่า และได้รับเงินเมื่อไร เป็นจุดหนึ่งที่บัญชีหลายคน แต่ละวันต้องนั่งรับโทรศัพท์ว่า Supplier บิลเบอร์นี้จะได้รับเงินเมื่อไร มีปัญหาอะไรหรือเปล่า
"ตรงนี้ใช้คนและเวลาทั้งหมด เลยเอามาเป็นจุดตั้งต้นว่า ถ้าเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้ดีและเหมาะสมจริง ๆ จะต้องปิดทั้ง 5 ข้อนี้ได้ อย่างน้อยต้องลดลงตามระดับที่ตั้งใจไว้"

บล็อกเชนของ SCG เป็นยังไง

What-is-Blockchain_SCG_ETDA.jpg


บล็อกเชนมีแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Hyperledger, Corda, Quorum หรือ Ethereum ที่เทียบง่าย ๆ ก็เหมือนวินโดว์ส หรือ iOS ซึ่งเวลาทำแอปพลิเคชันหรือเน็ตเวิร์กต่าง ๆ ก็ต้องดูว่า สิ่งที่จะทำเหมาะสมกับตัวแพลตฟอร์มไหน ทาง SCG ได้เลือกใช้ Corda ซึ่งยังได้ลองเชื่อมต่อระหว่าง Corda ของที่นี่ กับ Quorum ที่สิงคโปร์ใช้ ผลคือเชื่อมต่อกันได้และส่งข้อมูลต่อเนื่องกันได้ ทำให้สามารถจ่ายเงินต่างประเทศได้ แต่ยังอยู่ในขั้นทดสอบ

ก่อนจะใช้บล็อกเชน SCG ต้องเข้าใจอะไรบ้าง
  • การแปลงกระดาษให้ไปอยู่ในรูปดิจิทัล ข้อดีของการแปลงให้ไปอยู่ในรูปดิจิทัลคือ ใช้ระบบในการตรวจสอบได้ ถ้าเป็นกระดาษต้องใช้คนตรวจ ระหว่างคนตรวจกับระบบตรวจ ถ้ามี Logic ที่ดี ระบบตรวจจะ 100% มากกว่าอยู่แล้ว และเร็วกว่า
  • Peer-to-Peer Network เช่น SCG ซื้อของจาก Supplier A ก็ควรเป็น SCG กับ Supplier A เท่านั้นที่รู้เรื่องธุรกรรมนี้ Supplier B ไม่รู้ เพราะฉะนั้นคือ peer-to-peer ไม่ใช่ public
  • Ecosystem หรือระบบนิเวศจากที่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคีย์เข้าข้อมูลระบบตัวเอง ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ ถ้าในตอนสุดท้ายข้อมูลไม่ตรงกัน ไม่รู้จะเชื่อตรงไหน ของใครจะถูก บล็อกเชนทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกันในเรื่องนั้น ๆ อยู่ด้วยกัน และใช้เน็ตเวิร์กเดียวกัน และสื่อสารกันด้วยข้อมูลเดียวกัน เช่น หากสั่งซื้อปากกา 10 ด้าม แล้วใครคนใดคนหนึ่งจะแก้จาก 10 เป็น 5 ด้าม  ผู้ขายจะไม่รู้เรื่องก็ไม่ได้ เพราะทุกคนในระบบรู้เท่ากันหมด เพราะฉะนั้นทำให้ไม่ต้องมีตัวกลาง ซึ่งระบบช่วยตรวจสอบให้แล้วว่า 10 ก็ต้อง 10 เท่ากัน หรือ 5 ก็ต้อง 5 เท่ากัน
"ตัวบล็อกเชนจึงมี Powerful ในเรื่องนี้ คือ ไม่ต้องมีคนกลาง เชื่อถือได้ และมี Security"

บนเส้นทางแห่ง Digital Transformation

Blockchain_SCG_ETDA_Journey.jpg

เมื่อมาดู Timeline ในการพัฒนา SCG ได้เริ่มต้นเรื่องนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2560 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรายแรก ๆ ของไทย สิ่งที่สำคัญอันแรกคือ Mindset หรือวิธีคิดของคนที่มาอยู่ในการพัฒนานี้ ก็ลองไปประมาณ 3 เดือน พอช่วงกุมภาพันธ์ 2561 ก็ได้ผลคร่าว ๆ ของการทำ POC (Proof-of-Concept) ซึ่งเห็นความเป็นไปได้ ช่วงมีนาคม 2561 ก็นำเสนอคณะผู้บริหารของ SCG ว่าทีมมีการศึกษาเรื่องนี้ ด้วยกระบวนการทำงานแบบนี้ ซึ่งสุดท้ายก็ได้ไปต่อ หลังจากนั้น ก็เริ่มทำโปรเจ็กต์โดยใช้เวลาประมาณ 5 เดือน ก่อนจะเริ่มนำร่องบนแพลตฟอร์มในเดือนสิงหาคม 2561

"จากกระบวนการยาว ๆ เราเคยจับเวลาว่า ด้วยกระบวนการปกติบนการทำงานเดิม เอกสาร 1 ชุดใช้เวลาถึง 70 นาที ตั้งแต่หน้างานจัดซื้อ ถึงบัญชี จนถึงแบงก์ที่ทำการจ่ายเงิน แต่พอเราใช้บล็อกเชน เวลาลดลงไปครึ่งนึง แล้วก็ต้นทุนต่อรายการที่เกิดขึ้น ทั้งจำนวนคนที่ใช้ ทั้งเวลาที่ใช้ ลดลงไปได้ถึง 70% จึงพอคาดการณ์ได้ว่า เราควรจะไปต่อหรือไม่ หากทำได้เยอะ ครอบคลุมเคสได้มากกว่านี้ ก็ยิ่งมีพลังมากขึ้นไปอีก"

เนื่องจาก Supplier ของ SCG นั้นเป็นหลักพันหรือหลักหมื่น และมีทุกเซกเมนต์ ทั้งบริษัทใหญ่ ๆ บริษัทระดับโลก บริษัทระดับกลาง ๆ ไปถึง SMEs ตลอดจนบุคคลธรรมดา ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมี Digital Literacy เท่ากัน การทดลองนำร่องจึงทำกับ Suplier แค่ 10 รายก่อนกับกลุ่มธุรกิจ Chemicals โดยได้แรงสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง และทีมที่ช่วยกันอย่างดี จากนั้นในเดือนมีนาคม 2562 จึงได้ขยายไปกลุ่มธุรกิจ Packaging

"ก็ไป Packaging ทำกล่องบรรจุภัณฑ์ทั้งหลาย หรือกระดาษ A4 โน่นนี่ก็อีกแบบ ซึ่งมีช่องว่าอยู่แล้วที่จะต้องหาให้ได้ว่าคืออะไร ซึ่งของ Packaging ก็ยังหลักสิบอยู่ ซึ่งอยู่ในจุดที่เลิกทดสอบแล้ว Supplier บางรายยังไม่ถึงคิว ก็โทร.มาว่า อยากใช้แล้ว หรือบางรายก็ขอถอยไปก้าวนึง ยังไม่มีคนทำ ยังไม่พร้อม คือเจอทุกรูปแบบ"

วิลาสินี บอกว่า สิ่งที่ยากคือ จะทำอย่างไรให้ส่วนที่เหลือ ขึ้นมาได้ทั้งหมด แต่ละเซกเมนต์ของ Supplier ก็มีวิธีเข้าถึงที่ไม่เหมือนกัน บริษัทที่มีไอทีแบบระดับโลก จะให้วางบิลบนบล็อกเชน ก็ต้องใช้กระบวนการอีกแบบ แต่ถ้าเป็นรายกลาง ๆ อันนี้อาจจะได้เลย โดย SCG จะไม่มีคำว่า "บังคับ" ในหนังสือชี้แจง แต่ความตั้งใจคือไปด้วยกันทั้งหมด ที่สำคัญคือ คนใน SCG เองก็ต้องปรับ

"เรามองทั้งเรื่องเทคโนโลยี เรื่อง Process และเรื่องคน เพราะฉะนั้นเวลาเปลี่ยนอะไรสักอย่าง 3 เรื่องนี้หนีกันไม่พ้น ต้องปรับไปด้วยกัน"

ระหว่างเส้นทางแห่งการพัฒนาก็ทำให้ SCG ได้รับ 2 รางวัล ในเรื่อง Excellence in Automation และ การนำบล็อกเชนมาใช้กับ Supply Chain รายแรกของโลก

จบครบ จากจัดซื้อถึงจ่าย

Blockchain_SCG_ETDA_End_to_end.jpg

การทำงานของแพลตฟอร์มนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ แปลงทั้ง PO, GR, Invoice ให้เป็น Smart Contract ที่อยู่ในรูปดิจิทัล และสามารถรองรับ e-Tax Invoice ของกรมสรรพากรได้ ตามฟอร์แมตที่กรมสรรพากรกำหนด แล้วก็มีการทำ Auto 3 Way Matching คือการเช็กราคาที่อยู่ใน PO เช็กจำนวนที่อยู่ในการรับของ กับที่ Vendor วางบิลมา เช่น ซื้อปากกา 10 ด้าม ด้ามละ 10 บาท แล้ว Supplier มาส่ง 9 ด้าม แต่มาวางบิล 10 ด้าม พอระบบเช็กอัตโนมัติก็จะแจ้งเตือนว่า ไม่ตรงกันด้วยเรื่องอะไร แทนที่จากเดิม คนต้องมาคอยนั่งดู ทั้งคนรับของ คนทำบัญชี คนจ่ายเงิน ซึ่งได้มีการนำ Logic ตรงนี้เข้ามาในระบบ แล้วให้ระบบตรวจให้ ซึ่งจากที่คนใช้เวลา 5-10 นาที เหลือแค่ 0.01 วินาทีที่เครื่องตรวจ 

"หรือแม้กระทั่งเรื่องสายอนุมัติ จากเดิม คนเป็นคนเลือกเอง ว่าจะให้เอกสารเดินไปที่ไหน อันนี้ระบบทำให้ทั้งหมด เราจึงปิดช่องโหว่ตรงนี้ คนไม่ต้องไปเปิดเล่ม ว่าใครมีอำนาจอนุมัติดำเนินการ จะต้องส่งไปถึงใคร ถึงนายคนไหน"

นอกจากนี้ยังปิดเรื่อง Fraud เพราะการเซตเป็น Master ไว้ ว่าซื้ออะไร ยอดเท่าไร ให้ใครอนุมัติ ระดับไหน เพราะฉะนั้น เมื่อรายการตรวจเสร็จ จะส่งไปยังผู้อนุมัติเลยว่า วันนี้มีรายการที่จะต้องอนุมัติเท่านี้ ๆ กระดาษก็ไม่ต้องใช้เยอะ เพราะเมื่อบัญชีตรวจเสร็จแล้วก็ Filing เลย และยังประหยัดเวลาไปได้ สามารถนำเวลาไปทำงานอย่างอื่นที่มีมูลค่าได้มากกว่า

และหลังจากระบบตรวจสอบ Invoice แล้ว Key Function ของบล็อกเชนจะกระจายข้อมูลไปยังคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระบบจะรู้ว่า ถ้าเป็นขั้นของการวางบิล จะต้องส่งข้อมูลที่เป็น Smart Contract ให้ Buyer คนไหน และ Seller คนไหน หรือเมื่อ Invoice ได้รับอนุมัติแล้ว จะต้องส่ง Invoice ที่มีสแตมป์อนุมัติไปให้ธนาคารตรงไหน ซึ่งแอปพลิเคชันปกติ ไม่สามารถทำอะไรได้แบบนี้ จึงนับเป็นข้อดีที่ได้นำมาใช้

ผลประโยชน์ที่ได้​

Blockchain_SCG_ETDA_benefit.jpg

จากการดำเนินงานทั้งหมด ทำให้บล็อกเชนมาช่วยแก้ไข Business Challenge ทั้ง 5 ข้อที่ได้กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่าย การทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ หรือเรื่อง Visibility โดย Supplier สามารถเห็นข้อมูลในระบบแบบ Real-time เพราะฉะนั้นเมื่อตรวจ Invoice เสร็จ ระบบจะสแตมป์ว่าจะได้รับเงินเมื่อไร ไม่ต้องนั่งโทร.ถามว่าเอกสารใบนี้ติดอะไรหรือเปล่า ได้เงินเมื่อไร เข้าบัญชีวันไหน สุดท้ายข้อมูลที่อยู่ในระบบสามารถนำไปต่อยอด ไปวิเคราะห์เรื่องอื่น ๆ ซึ่งใน SCG อาจจะไปดู Vendor Evolution ต่อ ว่าส่งของตรงไหน มีเคลมบ่อยไหม มีการปรับกับรายนี้บ่อยไหม หรือของมีคุณภาพหรือเปล่า มี Defect บ่อยหรือไหม หรือทาง Supplier ก็สามารถดึงข้อมูลไปต่อได้ว่า SCG ซื้ออะไรของเขามากที่สุดหรือบ่อยที่สุด เพื่อที่จะสามารถนำไปต่อยอดได้อีก

กระบวนการเหล่านี้ จะลดเวลาได้กว่า 50% และลดต้นทุนต่อรายการถึง 70% และหากกรมสรรพากรรับรองระบบตรงนี้ ต่อไปก็ไม่ต้องเก็บกระดาษ Supplier ไม่ต้องออกกระดาษ ค่ากระดาษก็หายไปแล้ว ค่าเมสเซนเจอร์ที่ส่งกระดาษก็หายไป สุดท้ายคือลดความเสี่ยง ที่ข้อมูลแต่ละที่ไม่ตรงกัน ทั้ง ๆ ที่ทำธุรกรรมเดียวกันอยู่ และใครเกี่ยวข้องก็เห็นข้อมูลตรงกันและเท่ากัน

วิลาสินี ทิ้งท้ายว่า บล็อกเชนไม่ได้โดดเด่นอยู่เทคโนโลยีเดียว เพราะมันจะมีพลังขึ้นอีก หากนำ AI, Machine Learning หรือ IoT (Internet of Things) มาผนวกเข้าด้วยกัน เช่น การใช้ Machine Learning ให้ระบบคิด เมื่อ Supplier ส่ง Submit อะไรเข้ามา ว่าขั้นต่อไปคืออะไร Supplier จะต้องทำอะไร เป็นการเรียนรู้พฤติกรรมไปเรื่อย ๆ ทำให้ฉลาดขึ้น

ส่วน IoT เช่น ธุรกิจ Chemicals ตัว Supplier อาจจะส่งสารเคมีอันตราย ซึ่ง SCG มีแท็งก์เก็บ โดยอาจกำหนดว่า ถ้าเหลือระดับไม่ต่ำกว่าตรงนี้ ไม่สามารถเทได้ เพราะอันตราย ตัว IoT จะช่วยให้รู้แบบ Real-time ได้ เช่นติดชิปไว้ที่แท็งก์นั้น แล้วส่งข้อมูลเข้าระบบให้ Supplier เห็น ซึ่งในอนาคตอาจจะทำงานอัตโนมัติแล้วประมวลผลตัว PO สั่งซื้อ ให้ Supplier มาส่งได้ทันเวลา ทำให้กระบวนการผลิตไม่ขาดช่วง

"เป็นเรื่องอนาคต ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป ว่าเราจะทำอะไรให้ดีขึ้น เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นได้บ้าง"

ดาวน์โหลดสไลด์ 


 

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)