Digital Law
- 02 ก.ค. 58
-
1305
-
ส่องตัวแปรสำคัญในโอกาสการแข่งขันภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ร่วมกับ หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand - JFCCT) เปิดเวทีเสวนา “ปัจจัยสำคัญและโอกาสในการแข่งขันของประเทศไทย ภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล” โดยได้รับเกียรติจาก Mr.Peter Fischbach ประธานบริษัท ISM Technology Recruitment Ltd. รศ.ดร.ก้องกิติ พูสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายฤทธิเดช เหมาะประสิทธิ์ ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายกฎหมาย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ Mr. Robert Fox ประธานกลุ่ม ICT JFCCT มาร่วมพูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันในการนำประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบและให้เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการและเติบโตอย่างรวดเร็ว และปัจจุบัน ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และการลงทุนต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน แต่การพัฒนาประเทศเพื่อให้สามารถแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้ ส่วนใหญ่ไปมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาแต่เทคโนโลยีให้ทันสมัย โดยมองข้าม “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รศ.ดร.ก้องกิติฯ อ้างถึงผลการศึกษาของ JFCCT ว่า ทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้การพัฒนาประเทศสามารถแข่งขันกับต่างชาติในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ นอกจากทักษะความรู้ซึ่งเป็น Hard Skills แล้ว ส่วนของ Soft Skills ก็เป็นอีกทักษะที่จะต้องฝึกฝนเพื่อทำให้การดำเนินงานสำเร็จ อันเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรมีการพัฒนา โดยเฉพาะคนไทยที่ยังคงขาดความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) ซึ่งการพัฒนาทางด้านนี้ยากและต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องมีการพัฒนาและฝึกสอนตั้งแต่เด็ก ดังนั้น “ทักษะด้าน Soft Skills อะไรบ้าง” ที่จำเป็นนอกเหนือจากทักษะด้านความรู้อย่าง Hard Skills เป็นคำถามที่ประเทศไทยต้องหาคำตอบและเร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหานี้
นายฤทธิเดชฯ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นแนวทางปฏิบัติภายใต้นโยบายที่สำคัญที่สุด คือ การวางบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมที่เป็นโครงสร้างหลัก (Core Network) ซึ่งปัจจุบันมีทั้งของหน่วยงานรัฐและเอกชน ทำให้เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน จึงควรเข้าไปจัดระเบียบเพื่อให้ใช้ร่วมกัน หรือกำหนดให้ชัดเจนว่าต่อไป รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนและให้มีการเช่าใช้ ทั้งนี้อินเทอร์เน็ตต้องเข้าถึงทุกคนในราคาที่ไม่แพง และมีการวางระบบอินเทอร์เน็ตให้มีความมั่นคงปลอดภัย เพราะข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมีทั้งดีและไม่ดี รวมทั้งการรักษาความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้ใช้ก็เป็นสิ่งสำคัญ
ทั้งนี้ ETDA ตระหนักถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งเป็นการนำไอซีทีมาช่วยปฏิรูปทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ และมองว่าหากจะก้าวให้เร็วขึ้นจะต้องเร่งมือช่วยกันและนำไปใช้ให้เกิดคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ โดยต้องรองรับการแข่งขันทั้งภายในและระหว่างประเทศได้
ติดตามความคืบหน้าของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และการพูดคุยในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจของเวที ICT Law Center Open Forum ซึ่งในวันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคมนี้จะพูดคุยในหัวข้อ “Check ก่อน Share: ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ข้อมูลลับเฉพาะ หรือ ข้อมูลผิดเพี้ยน”