TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

ข่าวประชาสัมพันธ์

ประเทศไทยเปิดความพร้อมศักยภาพผู้นำในเวทีระดับโลก พร้อมถก 3 ประเด็นร้อน ก่อนงาน UNESCO Global Forum on the Ethics AI 2025

AIGC Documents
  • 20 ม.ค. 68
  • 12

ประเทศไทยเปิดความพร้อมศักยภาพผู้นำในเวทีระดับโลก พร้อมถก 3 ประเด็นร้อน ก่อนงาน UNESCO Global Forum on the Ethics AI 2025

ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยกับงานแถลงข่าว “Official Launch Event for the 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025: Ethical Governance of AI in Motion” and “Thailand’s Artificial Intelligence Readiness Assessment Methodology” การประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญของประเทศไทย นำโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ UNESCO เพื่อเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงาน The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025งานประชุมระดับนานาชาติที่จัดขึ้นครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก ระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568 ณ กรุงเทพมหานคร

ความน่าสนใจของงานแถลงข่าวครั้งนี้ นอกจากการแสดงวิสัยทัศน์จากผู้บริหารระดับสูงของ ดีอี อว. และ UNESCO ที่ร่วมสะท้อนถึงความพร้อมและความสำคัญของการจัดงานจริยธรรม AI ระดับโลก อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ คือ เวทีเสวนา 3 ช่วง ที่รวมผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ทั้งไทยและต่างประเทศ พาเราจุดกระแสการพัฒนาจริยธรรม AI ในไทยและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะบทบาทของประเทศไทยในฐานะผู้นำขับเคลื่อนจริยธรรม AI บนเวทีโลก ที่มาพร้อมหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ ไปดูกัน!

ไทยพร้อมแค่ไหน? ในฐานะเจ้าภาพการประชุมระดับโลก
เริ่มที่เสวนาแรกกับหัวข้อ ‘Thailand Readiness to Host the Global Forum and to Conduct RAM on the Ethics of AI’ ที่ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ Ms. Soohyun Kim ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ
Ai-B-549_0.jpg

ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองถึงความพร้อมของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพร่วม ในการประชุมระดับนานาชาติ “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ที่ถือเป็นการจัดครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก นับเป็นก้าวสำคัญที่ไทยจะได้แสดงจุดยืนต่อผู้นำโลก ถึงความพร้อมในการขับเคลื่อนจริยธรรมและทิศทางการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งการที่ไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานในปีนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลมาจากความพยายามในการมุ่งส่งเสริมให้ประเทศเกิดการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากการประยุกต์ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง             โดยมุ่งเน้นให้ประเทศสามารถก้าวทันต่อสถานการณ์โลกและเกิดการใช้ AI อย่างครอบคลุมและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม ด้วยโครงสร้างพื้นฐานในด้านอินเทอร์เน็ตของไทยและคลาวด์ที่มีประสิทธิภาพช่วยสร้างความเท่าเทียมและลดช่องว่างทางดิจิทัลอย่างยั่งยืน จากความพร้อมดังกล่าว ทำให้เห็นว่าไม่เพียงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน UNESCO Global Forum on the Ethics of AI แต่ไทยยังได้ทำหน้าที่ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGMIN) (ที่จัดขึ้นในเดือน มกราคม 2568 นี้) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญในการพิจารณาประเด็นในด้านธรรมาภิบาลและจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์อีกด้วย พร้อมกันนี้ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของกรอบ UNESCO Readiness Assessment Methodology (RAM) หรือกรอบการประเมินความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และได้มีการไปปรับใช้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งกรอบ RAM ไม่เพียงช่วยให้ไทยสามารถประเมินความพร้อมของระบบนิเวศน์ด้าน AI แต่ยังช่วยระบุช่องว่างและจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนในด้านที่จำเป็น พร้อมเสนอแนะให้เห็นถึงทิศทางเชิงกลยุทธ์ในการกำหนดนโยบายและจัดสรรทรัพยากรเพื่อยกระดับเทคโนโลยี AI ของประเทศ โดยข้อมูลที่ได้จากการประเมินความพร้อมในปีนี้ จะถูกนำเสนอในเวทีการประชุมนานาชาติครั้งนี้ด้วย

เส้นทางบทบาทผู้นำด้านจริยธรรม AI ของไทยในเวทีโลก
         การประชุมระดับนานาชาติ “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI” ที่จะเกิดขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญของโลกด้านจริยธรรมและการกำกับดูแล AI ที่เสริมบทบาทของไทยในฐานะหนึ่งในผู้นำเรื่องนี้ ในเวทีเสวนาที่สอง หัวข้อ Thailand’s Journey in Driving AI Ethics & Governance: Insights from Hosting the Global Forum on the Ethics of AI’ ที่มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ก็ได้พาเราไปสำรวจเส้นทางความพร้อมในการเป็นผู้นำในด้านนี้ของไทยจากการดำเนินงานในหลากหลายมิติ
Ai-B-648_0.jpg

เริ่มที่ ความก้าวหน้าของการดำเนินงานในฝั่งรัฐบาลไทย ที่มีแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2570) นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดนโยบายที่เน้นความสำคัญของการพัฒนากรอบการกำกับดูแลที่มีความรับผิดชอบและโปร่งใส ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายเฉพาะทางในอนาคต        โดยแนวทางการกำกับดูแล AI ที่ไทยกำลังเดินหน้าพัฒนานี้ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการใช้งาน AI ในทุกภาคส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ละเมิดหลักจริยธรรม พร้อมสะท้อนมุมมองถึงภาคเอกชน ที่ต้องมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยคำนึงถึงหลักจริยธรรมและศีลธรรม โดยในวงเสวนาได้กล่าวถึง การเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน  เพื่อร่วมกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับการพัฒนา AI เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เช่น การพัฒนาบริการด้านสุขภาพ และการเพิ่มรายได้ในภาคการเกษตร พร้อมกันนี้ยังได้กล่าวถึงการพัฒนากลยุทธ์ AI ของประเทศ ภายใต้การใช้กรอบ RAM เพื่อระบุช่องว่างและจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนา AI ให้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติ โดยโครงการสำคัญ อาทิ การพัฒนาระบบ AI ด้านการแพทย์ และการวางมาตรการด้านความปลอดภัยของ AI ที่มีความจำเป็นในการกำหนดมาตรฐานการยืนยันตัวตนทางชีวมิติ เป็นต้น พร้อมกันนี้ี้ ยังชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทย เช่น การขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชนบท ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) พร้อมเสริมศักยภาพของประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI และ Big Data รวมถึงการมีกฎหมายและนโยบายที่รองรับอย่างเหมาะสมสม โดยคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมเสริมความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และการจัดการความท้าทายที่ซับซ้อนจาก AI และเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการสร้างระบบนิเวศ AI ที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
 

RAM: กุญแจสู่อนาคต AI ที่ยั่งยืนและมีจริยธรรม
 
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเข้ามาของเทคโนโลยี AI ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงและผลกระเพื่อมทางสังคม เศรษฐกิจและมนุษยชาติ ทั้งในมุมของการสร้างโอกาสใหม่และความท้าทายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เช่น การลดช่องว่างและการเพิ่มช่องว่างทางดิจิทัลที่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาและการประยุกต์ใช้ของกลุ่มต่างๆ รวมถึงการเข้ามาแทนที่คนทำงานโดยเทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automation) จากการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ระบุว่า มากกว่า 56% ของงานภาคการผลิตและเกษตรกรรมในภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญความเสี่ยงกับปัญหาเรื่องนี้ นี่คือตัวอย่างของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยี AI โดยมีผู้ร่วมสนทนา ได้แก่ Mr. Irakli Khodeli  หัวหน้าหน่วยจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์                 ฝ่ายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ UNESCO, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ได้หยิบยกขึ้นมาพูดคุยในช่วงสุดท้าย กับหัวข้อ ‘Policy and Strategic Frameworks”, in the Region Readiness Assessment Methodology (RAM)’
Ai-B-798_0.jpg

ผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นพ้องถึงความจำเป็นของการกำหนดกรอบจริยธรรมการกำกับดูแล AI ในวันที่เทคโนโลยีนี้ อาจกลายเป็นเหรียญสองด้านที่ไม่เพียงสร้างประโยชน์และโอกาสใหม่ แต่ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในอนาคต หากปราศจากการดูแลที่เหมาะสม ดังนั้น เพื่อตอบสนองความท้าทายนี้  UNESCO ได้กำหนด Recommendation on the Ethics of Artificial Intelligence ขึ้นในปี 2021 เพื่อเป็นมาตรฐานด้านจริยธรรมในการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยี AI โดยข้อเสนอแนะดังกล่าว ให้ความสำคัญกับหลักการสำคัญ เช่น ความโปร่งใส ความเป็นธรรม ความรับผิดชอบ และการเคารพสิทธิมนุษยชน เพื่อให้การนำ AI มาใช้ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีกลไกของ RAM เป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินความพร้อมของประเทศสมาชิกในด้านการพัฒนาและการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม โดย RAM ช่วยวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญ เช่น การกำกับดูแลนโยบาย กรอบกฎหมาย ความโปร่งใส และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถระบุจุดแข็งและจุดที่ต้องปรับปรุง พร้อมนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ด้าน AI ที่สอดคล้องกับจริยธรรมและบริบทของแต่ละประเทศ ที่จะช่วยให้แต่ละประเทศเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้งาน AI และช่วยสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีกับ         การกำกับดูแลอย่างเหมาะสม ตัวอย่างประเทศที่ได้นำ RAM ไปใช้แล้ว เช่น ชิลี โมร็อกโก เนเธอร์แลนด์ สำหรับประเทศไทยเอง ก็ได้เริ่มนำกรอบนี้มาช่วยในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ AI ของประเทศ โดยเน้นยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างความตระหนักรู้และกฎระเบียบด้านจริยธรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเสริมสร้างกำลังคน การวิจัยและนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้งาน AI ที่ปลอดภัย โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ให้เข้มแข็ง พร้อมสู่การเป็นผู้นำด้านการพัฒนา AI ที่ยึดหลักจริยธรรม และสามารถพัฒนาตัวชี้วัดด้านปัญญาประดิษฐ์ให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานระดับโลก พร้อมกำหนดแนวทางในการพัฒนากลยุทธ์เฉพาะด้าน ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงการพัฒนากำลังคนได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Center by ETDA หรือ ศูนย์ AIGC) เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเกิดการประยุกต์ใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพพ มีความรับผิดชอบและสอดคล้องกับหลักจริยธรรม โดยมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อให้เกิดกระบวนการจัดการความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริมนวัตกรรมที่สอดคล้องกับมาตรฐาน มีการจัดทำข้อเสนอแนะ และแนวปฏิบัติที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐ สามารถทดลองใช้งาน AI ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยไม่ถูกจำกัดเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังให้ความสำคัญกับการกำหนดแนวทางการออกกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ AI ในอนาคต เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมการพัฒนา AI และการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวมุ่งสร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี AI พร้อมทั้งผลักดันให้ AI เป็นส่วนสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทยในระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างยั่งยืน

“The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ ไม่ได้เป็นเพียงเวทีประชุมเชิงนโยบายในการกำหนดอนาคตของจริยธรรมและการกำกับดูแล AI ระหว่างผู้นำจากภาครัฐ เอกชน และองค์กรนานาชาติจาก 194 ประเทศสมาชิก UNESCO เท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านจริยธรรม AI บนเวทีโลก ซึ่งการประชุมครั้งนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงและความเท่าเทียมทางดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมนวัตกรรมที่โปร่งใส ยุติธรรม และมุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดแก่มนุษยชาติ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง - ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการประชุมนี้ได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand เพื่อไม่พลาดโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญที่กำหนดทิศทางอนาคตเทคโนโลยี AI ของโลก
 

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)