TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

ETDA จุดพลังดิจิทัล! กับ 2 บิ๊กแคมเปญแห่งปี  ‘Moot Court 2024 และ EDC Pitching’

Digital Trend Documents
  • 10 ต.ค. 67
  • 20

ETDA จุดพลังดิจิทัล! กับ 2 บิ๊กแคมเปญแห่งปี ‘Moot Court 2024 และ EDC Pitching’

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก ไม่เพียงเปลี่ยนวิถีการทำงานและการใช้ชีวิตของเราให้สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกับผู้คนทั่วโลก การเข้าถึงข้อมูลและบริการอย่างไร้ขีดจำกัด แต่ในความก้าวหน้านี้ก็มีความท้าทายที่มาพร้อมกับความเสี่ยง เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ การหลอกลวงทางออนไลน์ และการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจของเราได้โดยไม่รู้ตัว

ETDA หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มองเห็นทั้งโอกาสและความท้าทายจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จึงได้มุ่งมั่นสร้างสังคมดิจิทัลที่ทั้งปลอดภัยและมีคุณภาพภายใต้แนวคิด “ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล” ผ่านการจัดกิจกรรมและแคมเปญที่มุ่งเน้นการเพิ่มพูนความรู้และทักษะที่จำเป็น เพื่อพัฒนา พลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ โดยต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปีนี้ ได้แก่ e-Transaction Law Moot Court Competition 2024 และ EDC Pitching Season 2: Digital Wellness Lifestyle สองแคมเปญสุดฮิตที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ สร้างความตื่นตัวและเสียงตอบรับที่ดีจากทั้งผู้เข้าร่วมและผู้ชม

เพื่อต่อยอดความสำเร็จ เมื่อเร็วๆ นี้ ETDA ยังเปิดเวทีปลุกพลังดิจิทัล ชวนตัวแทนจากทีมผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศจากทั้ง 2 การแข่งขัน มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแข่งขัน เจาะลึกถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ไอเดียตอบโจทย์การแข่งขันสู่ความเป็นที่ 1 พร้อมแนะเคล็ดลับการอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างรู้เท่าทันและมีความสุขใน ETDA Live : ไลฟ์กำลังดี EP.5 Next Gen Digital Skills: สกิลอัป ! ไอเดียใหม่ ปลุกพลังดิจิทัล งานนี้ นอกจากเราจะได้เปิดมุมมองไอเดียที่หลากหลาย ยังได้เห็นจุดต่างทางความคิดที่ล้วนน่าสนใจ….

  • e-Transaction Law Moot Court Competition 2024 เวทีปั้นนักกฎหมายดิจิทัลรุ่นใหม่!!
แม้กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จะดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่ แต่จริงๆ แล้วกฎหมายฉบับนี้มีและประกาศใช้มานานมากแล้ว ภายใต้ชื่อเต็มคือ ‘พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544’ ที่เป็นกฎหมายสำคัญอีกฉบับที่เข้ามาช่วยรองรับการทำธุรกรรมทางออนไลน์ของคนไทย ให้มีผลทางกฎหมายไม่ต่างจากการทำธุรกรรมทางออฟไลน์นั่นเอง ถึงกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้มานาน แต่ยังคงมีนักกฎหมายไทยไม่มากนักที่มีความเชี่ยวชาญหรือเข้าใจข้อกำหนดต่างๆ ของกฎหมายนี้อย่างถ่องแท้ ดังนั้น e-Transaction Law Moot Court Competition 2024 จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความมุ่งหวังของ ETDA ในการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจในสาระสำคัญของกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ ว่าที่นักกฎหมายรุ่นใหม่ ผ่านการแข่งขันโต้ปัญหา “กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” โดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ เพื่อพัฒนาทักษะการโต้เถียงกฎหมายในชั้นศาล มุ่งเน้นกฎหมายเฉพาะทางเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่นับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ปูทางเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวสู่การเป็นนักกฎหมายดิจิทัลมืออาชีพในอนาคต แม้ปีนี้จัดเป็นปีแรกและเป็นครั้งแรกของไทยที่นำกฎหมายฉบับนี้มาเป็นโจทย์หลักในการแข่งขัน Moot Court แต่ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากๆ มีนักศึกษาสายกฎหมาย จากทั่วประเทศสมัครเข้าแข่งขันมากถึง 59 ทีม และปิดฉากความสำเร็จไปเป็นที่เรียบร้อย โดย ทีมไก่ย่างสามสหาย คว้ารางวัลชนะเลิศ ขณะที่ ทีม IT Depends คว้ารางวัลรองชนะเลิศ ตามลำดับ

จากการพูดคุยใน ETDA Live ทั้ง 2 ทีม ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการการแข่งขันในครั้งนี้ว่าถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง เพราะนอกจากจะได้เข้าคอร์สฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ (Workshop) จากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายโดยเฉพาะแล้ว ยังได้ประสบการณ์มากมายจากการแข่งขัน และถือเป็นโอกาสสำคัญที่ได้เรียนรู้และเพิ่มความเข้าใจในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับนักศึกษาสายกฎหมายและยังไม่มีในหลักสูตรการเรียนการสอนโดยตรง อีกทั้งยังได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การตีความ การเขียนแถลงการณ์ การโต้เถียง การทำงานเป็นทีม รวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งล้วนแต่เป็นทักษะสำคัญของนักกฎหมายที่ต้องมี

นอกจากนี้ น้องๆ ว่าที่ “นักกฎหมายอนาคตไกล” ยังได้แนะนำเคล็ดลับง่ายๆ ที่จะช่วยให้ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้น
  • รู้เท่าทันและเข้าใจ ซึ่งทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลทางกฎหมายเช่นเดียวกับธุรกรรมทั่วไป ดังนั้น ก่อนจะดำเนินการใดๆ ควรศึกษาและทำความเข้าใจถึง ขั้นตอน เงื่อนไข และ ผลทางกฎหมาย ที่อาจเกิดขึ้นให้ถี่ถ้วน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาในอนาคต
  • ตั้งสติไว้ อยู่เสมอ แม้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จะมีข้อดีตรงที่ทำง่าย รวดเร็ว สะดวกแต่ก็อาจกลายเป็นข้อเสียหากทำอย่างไม่มีสติ ฉะนั้นก่อนทำธุรกรรมใดๆ ต้องตรวจสอบรายละเอียดอย่างรอบคอบ เช่น ราคาสินค้า เงื่อนไขการซื้อขาย เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดหรือถูกโกง โดยเฉพาะหากเป็นธุรกรรมทางการเงิน ควรตรวจสอบชื่อผู้รับและจำนวนเงินก่อนโอนเงินทุกครั้ง
  • ระวังเผลอ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ต้องระลึกไว้อยู่เสมอว่าการกระทำใดๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการแชทพูดคุย การส่งข้อความ หรือการรับ-ส่งไฟล์ดิจิทัล อาจถือเป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมได้  หรือแม้กระทั่งการ “อ่านไม่ตอบ” ก็ถือเป็นการยอมรับข้อเสนอและมีผลทางกฎหมายได้เช่นกัน
    ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการพูดคุยหรือรับรองข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์
  • เก็บทุกหลักฐาน ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ควรเก็บหลักฐานไว้ทุกครั้ง โดยเฉพาะสลิปโอนเงิน ควรบันทึกความจำในการโอนเงินด้วย เพื่อเป็นหลักฐานหากมีปัญหาในภายหลัง
  • ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่จะทำธุรกรรมนั้นมีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือหรือไม่ การมองข้ามเรื่องนี้อาจเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงหรือโจรกรรมข้อมูลได้
  • รู้ทันภัยมิจ อย่าหลงเชื่อข้อความหรือกด Link ที่น่าสงสัย และอย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงินในที่สาธารณะ หรือให้ข้อมูลกับผู้อื่นโดยเด็ดขาด
  • ติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กฎหมายก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย ดังนั้น อย่าลืมอัปเดตข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่เสมอ เพื่อพร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงอย่างมั่นใจ
Digital Wellness Lifestyle : สร้างวิถีชีวิตที่ “อยู่ดี อยู่ได้ อยู่อย่างมีความสุข” ในโลกดิจิทัล
 อีกแคมเปญที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ EDC Pitching Season 2: Digital Wellness Lifestyle ซึ่งเป็นกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้ชีวิตออนไลน์แบบเหมาะสม พอดี และมีสติ ภายใต้ 3 โจทย์ย่อยให้เลือก ได้แก่ 1) Screen Time Management 2) Digital Detox และ 3) Digital Mindfulness โดยทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ คือ ทีม Play Spirit จากแคมเปญ “Play Spirit : Happy Clear Screen” ที่ชวนเด็กๆ มาพักหน้าจอ แล้วมาร่วมสนุกกับกิจกรรมพัฒนาทักษะทางสมองและร่างกาย ส่วนทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีม MANTA RAY จากแคมเปญ “กันน็อก ล็อกอินใจ” ที่จะช่วยลดการใช้เทคโนโลยีในกลุ่มไรเดอร์ ผ่านคอนเทนต์สร้างสรรค์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจในยุคดิจิทัล และรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทีมนางฟ้านางสวรรค์ จากแคมเปญแอปพลิเคชัน “Your mind” เพื่อแก้ปัญหาการใช้เวลาหน้าจอเกินความจำเป็น ภายใต้แนวคิด 3R: Reduce , Reconnect , Relive พร้อมฟีเจอร์ที่ช่วยให้การพักหน้าจอเป็นเรื่องน่าสนุก
  โจทย์ใหญ่ของการแข่งขันในครั้งนี้ คือ การสร้าง Digital Wellness ซึ่งทุกทีมล้วนตีโจทย์ไปในทิศทางเดียวกันว่า Digital Wellness ไม่ใช่การปฏิเสธดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องตัดดิจิทัลออกจากชีวิต แต่คือ การเรียนรู้ที่จะอยู่กับดิจิทัลได้อย่างมีความสุข โดยแต่ละทีมได้เล่าถึงที่มาที่ไปของแคมเปญไว้อย่างน่าสนใจ มาดูกันได้เลย

-Play Spirit: Happy Clear Screen ชวนฉุกคิด “ใครยื่น ต้องเป็นคนหยุด”
ตัวแทนจากทีม  “Play Spirit” ที่ได้รางวัลชนะเลิศจากแคมเปญ “Play Spirit: Happy Clear Screen” เล่าว่าที่มาของแคมเปญมาจากตอนที่ทำงานในสตูดิโอสอนศิลปะสำหรับเด็กและครอบครัว แล้วพบว่าปัญหาหนึ่งที่ผู้ปกครองมักจะมาปรึกษาบ่อยๆ คือ ทำอย่างไรจะให้เด็กเลิกติดจอ เลยเกิดคำถามขึ้นว่าแล้วเด็กติดจอได้อย่างไร? ซึ่งในหลายๆ ครั้งก็พบว่าพ่อแม่เองก็มีส่วนที่ทำให้เด็กเกิดนิสัยนี้ ทำให้เกิดไอเดียที่อยากออกแบบกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กๆ ลดการใช้งานหน้าจอลงได้ โดยผู้ใหญ่ต้องมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหา เพราะ “ใครยื่นต้องเป็นคนหยุด” ฝากเพิ่มชื่อคน เหมือนทีมอื่นๆ ด้วยนะคะ ที่มาพูด

แคมเปญ "Play Spirit: Happy Clear Screen” เกิดขึ้นโดยการสร้างคลิปแอนิเมติก (Animatic) สำหรับเด็กและครอบครัว ที่รณรงค์ให้ผู้ใหญ่หยุดยื่นมือถือหรือไอแพดให้เด็ก ไม่ติดจอเสียเอง และชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่เด็กจะได้รับหากอยู่แต่หน้าจอมากเกินไป พร้อมแนะนำกิจกรรมทดแทนการติดหน้าจอที่สร้างสรรค์และสนุกสนาน นำเสนอผ่านแอนิเมติกทั้งหมด 8 ตอน เพื่อเป็นแนวทางให้พ่อแม่เห็นถึงกิจกรรมที่สามารถนำมาทดแทนการยื่นไอแพดให้ลูกได้ นอกจากนี้ยังมีแผนจัดกิจกรรม "School Tour" เพื่อนำกิจกรรมในแอนิเมติกมาทำเป็นละครนิทานให้เด็กๆ ได้ชมแบบสดๆ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมอบรมครูเพื่อให้สามารถนำแอนิเมติกไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนและต่อยอดเป็นกิจกรรมสนุกสนานที่พัฒนาทักษะเด็กๆ ได้อย่างรอบด้าน
-เปลี่ยน “เสี่ยง” เป็น “Safe” กับ กันน็อก ล็อกอินใจ
มาต่อกันที่ทีมที่ 2 คุณนันทิวาศย์ สโมสร ตัวแทนจากทีม MANTA RAY เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากแคมเปญ “กันน็อก ล็อกอินใจ เพื่อไรเดอร์สุขภาพดีในยุคดิจิทัล” เล่าถึงความตั้งใจในการเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มไรเดอร์ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องอยู่กับหน้าจอมือถือตลอดเวลาไม่ว่าจะในเวลางานหรือยามว่าง ซึ่งจะไปบอกให้เขาลดการใช้ก็คงไม่ได้ แต่ในเมื่อลดไม่ได้ จึงพยายามมองหาโอกาสจากตรงนี้ แล้วเน้นให้เหล่าไรเดอร์สามารถใช้ชีวิตอยู่กับดิจิทัลได้อย่างมีคุณภาพเพราะในปัจจุบันมักจะเห็นข่าวไรเดอร์หัวร้อน มีปัญหากันเองหรือมีปัญหากับลูกค้าบ่อยๆ และหลายๆ ครั้งไรเดอร์เองก็เป็นผู้ถูกกระทํา จึงอยากทำคอนเทนต์ที่มีประโยชน์สอดแทรกเข้าไปในช่วงเวลาที่พวกเขาพักผ่อนและเป็นที่มาของแคมเปญ “กันน็อก ล็อกอินใจ” เพื่อไรเดอร์สุขภาพดีในยุคดิจิทัล”

โดยนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจที่เข้าใจง่าย เช่น เทคนิค คลายเครียด ลดความเมื่อยล้า และวิธีจัดการกับความกดดัน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียที่กลุ่มไรเดอร์สนใจและติดตาม เช่น แฟนเพจของสหภาพไรเดอร์ ช่องของอินฟลู เอนเซอร์ที่เป็นไรเดอร์ โดยมีทั้งรูปแบบการไลฟ์สดพูดคุยให้ความรู้ ทำคลิปสั้น และกลุ่ม Line Openchat โดยจะรวมพลไรเดอร์มาพูดคุย แชร์ปัญหากัน ซึ่งหากมีประเด็นไหนที่น่าสนใจก็จะนำไปต่อยอดผลิต เป็นคลิปสั้นเพื่อสื่อสารออกไปในวงกว้างมากขึ้น นอกจากการนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์แล้วยังมีการสื่อสาร ผ่านสื่อออฟไลน์อีกด้วย โดยจะอยู่ในรูปแบบสติ๊กเกอร์แชร์เทคนิค ไอเดีย ทริคในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลสำหรับ ติดท้ายรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อให้ไรเดอร์เห็นได้โดยไม่ต้องเปิดมือถือ ซึ่งคุณนันทิวาศย์ ได้ย้ำว่า แคมเปญนี้ไม่ได้คิดมาเพื่อไรเดอร์เท่านั้น แต่หากไรเดอร์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ความเสี่ยงต่างๆ ก็จะลดลง และจะช่วยเซฟ คนในสังคมไปด้วย

-Your Mind “หยุดพัก แล้วหันมารักตัวเอง”
และทีมสุดท้าย คุณสุวัจจี จันทร์สุพัท ตัวแทนจากทีมนางฟ้านางสวรรค์ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เจ้าของแคมเปญแอปพลิเคชัน “Your Mind” กับแนวคิดที่เริ่มจากคำถามที่ว่า จะอยู่กับดิจิทัลอย่างไรให้มีความสุข? โดยแอปฯ นี้จะช่วยปรับสมดุลการใช้ชีวิตและการใช้งานหน้าจอ โดยจะมาช่วยปิดช่องโหว่ของแอปพลิเคชันจัดการเวลาที่มีอยู่มากมาย แต่อาจยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะคนส่วนใหญ่มักดาวน์โหลดแอปฯ มาไว้แต่ไม่ค่อยใช้งาน โดยหากิจกรรมที่มาช่วยเพิ่มความสนุกสนานและดึงดูดให้คนอยากกลับมาใช้แอปฯ เรื่อยๆ นำไปสู่ Big Idea ที่เรียกว่า "3R for Better Life" ประกอบด้วย Reduce การหยุดการใช้หน้าจอที่มากเกินไป Reconnect พักจากโลกออนไลน์และกลับมาเชื่อมต่อกับโลกจริงและผู้คนรอบข้างมากขึ้น Relive: หันกลับมารักตัวเองในแบบที่สมดุล โดยออกจากโลกดิจิทัลแล้วไปทำกิจกรรมออฟไลน์

แอปฯ “Your Mind” มีทั้งหมด 5 ฟีเจอร์ โดย 2 ฟีเจอร์แรกจะเป็นฟีเจอร์พื้นฐาน ได้แก่ Screen Time Control & Notification ที่ติดตาม บันทึก และตั้งค่าการใช้งานหน้าจอ รวมถึงการแจ้งเตือนให้พักเมื่อใช้งาน เกินกำหนด Data Summary & Suggestion บันทึกข้อมูลของผู้ใช้และการใช้งานหน้าจอ พร้อมให้คำแนะนำ การลดการใช้หน้าจอที่เหมาะสม พร้อมสรุปผลเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี แต่ที่เป็นจุดเด่นจริงๆ จะอยู่ที่ 3 ฟีเจอร์หลัง ที่ทำให้แอป Your Mind แตกต่างจากแอปทั่วไป ได้แก่ Challenges & Rewards เป็นฟีเจอร์ที่ทำให้การลดเวลาการใช้หน้าจอเป็นเรื่องน่าสนุก ยิ่งลด ยิ่งได้ เพราะยิ่งลดมากเท่าไหร่ ยิ่งได้เหรียญซึ่งสามารถสะสมและนำไปแลกส่วนลดหรือของรางวัลต่างๆ ได้ เช่น ส่วนลดบัตรคอนเสิร์ต บัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ฟีเจอร์ต่อมา คือ Mood Character ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถกดบันทึกอารมณ์ของตนเองในแต่ละวันได้ โดยจะมีทั้งหมด 6 Character ซึ่งข้อมูลที่ได้นี้เมื่อครบเดือนจะถูกนำมาประมวลผลเป็นภาพรวม Character ของเดือนนั้นๆ และยังสามารถใช้ประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นได้ด้วย ซึ่งหากพบว่าผู้ใช้มีแนวโน้มหรือเข้าข่าย มีปัญหาสุขภาพจิต แอปฯ จะแนะนำให้ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตในแอปพลิเคชัน "OOCA" ซึ่งเชื่อมต่อโดยตรงกับแอป Your Mind และ ฟีเจอร์สุดท้าย Event & Activity จะเป็นช่องทางที่ใช้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้ออกไปใช้ชีวิตในโลกจริงมากขึ้น

ในช่วงท้ายของการพูดคุย ทุกทีมต่างแสดงความคิดเห็นตรงกันว่าอยากให้แคมเปญเหล่านี้เกิดขึ้นจริง เพราะมั่นใจว่าสิ่งที่คิดขึ้นมานั้นมีประโยชน์และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงๆ พร้อมแนะนำ 3 เคล็ดลับสำคัญในการใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างมีความสุขว่า ต้องใช้อย่างมีวินัย สามารถควบคุมและแบ่งเวลาการใช้ ได้อย่างสมดุล สามารถจัดการตนเองได้ ไม่ปล่อยให้เทคโนโลยีมาทำลายคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดทุกข์ หรือส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ใช้อย่างพอเหมาะพอดี ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเท่าที่จำเป็น ลด พัก และทำ Digital Detox เป็นประจำ ไม่ให้เกิดการเสพติดหรือเกิดความเครียดสะสม และเคารพสิทธิ์ (Digital Rights) ทั้งไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น และใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ เพียงเท่านี้ก็สามารถสร้าง Digital Wellness Lifestyle ให้เกิดขึ้นได้จริง

แคมเปญดีๆ จาก ETDA แบบนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี ใครที่สนใจและไม่อยากพลาด กดติดตามความเคลื่อนไหวได้เลยที่ เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand แล้วคุณจะไม่หลุดทุกกิจกรรม!! ที่ทำให้คุณจะชีวิต…เมื่อมีดิจิทัล

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)