e-Commerce
- 30 ก.ย. 63
-
1602
-
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกับการช่วยฟื้นฟู SMEs ในประเทศจีน หลังวิกฤต COVID-19
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก สำหรับสถานการณ์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศแรกที่พบการระบาดของโรค ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 มียอดผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ถึง 3,869 คน และผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อจำนวนกว่า 50,000 ราย ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของเศรษฐกิจจีนทันที
GDP ไตรมาสแรกของ จีน ติดลบครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี
นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ที่ GDP ของจีนติดลบในไตรมาสแรก จากที่เคยคาดการณ์ว่า GDP ประเทศในปี 2563 นี้ จะพุ่งสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ด้านสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ต้องปิดไตรมาสแรกไปด้วยตัวเลขติดลบถึง 6.8% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการระบาดของโรคที่มีผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศ ทำให้หลายธุรกิจไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจรายย่อย หรือ SMEs เนื่องจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดและเด็ดขาดหลายอย่างจากทางการจีนที่ยืดเยื้อกว่า 3 เดือน ส่งผลให้ธุรกิจในกลุ่ม SMEs มากกว่า 50% ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และเกิดการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมหาศาลเป็นประวัติการณ์
เนื่องจากการจ้างงานจากกลุ่ม SMEs นับเป็น 90% ของการจ้างงานทั่วประเทศ และผลผลิตของ SMEs ถือเป็นตลาดใหญ่ถึง 80% ของจำนวนสินค้าส่งออกทั้งหมด ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงพยายามออกนโยบายเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง (Lockdown)
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ ช่วยหนุน SMEs ฝ่าวิกฤต
นอกจากความช่วยเหลือและมาตรการจากทางการจีนแล้ว 2 แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง
JD.com และ Alibaba ต่างก็เล็งเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงวางแผนหาแนวทางช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูธุรกิจในกลุ่ม SMEs ของจีน ให้อยู่รอดจากผลกระทบที่เกิดขึ้น
Alibaba เปิดตัวโครงการช่วยเหลือ SMEs ที่ต้องการขยายตลาดการส่งออก โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ในการ
พา SMEs บุกตลาดต่างประเทศด้วยแพลตฟอร์มในเครืออาลีบาบากรุ๊ป อย่าง
Aliexpress Lazada และ
Tmall Global ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการและมีฐานลูกค้าอยู่ทั่วโลก โดยเน้นอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายผ่านบริการหน้าเว็บที่เป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้สื่อสารและซื้อขายได้ง่าย รวมถึงนำระบบอัตโนมัติต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือผู้ขาย ทั้งการขายในรูปแบบขายส่งและขายปลีก
ในส่วนภาคการผลิต
Alibaba นำร่องโดยการสร้างศูนย์เกษตรกรรมรูปแบบดิจิทัล 1,000 แห่งกระจายทั่วประเทศ เพื่อช่วยยกระดับการจัดการห่วงโซ่อุปทานของ SMEs โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยลดปัญหาการผลิตด้านต่าง ๆ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือ SMEs ในด้านการเงิน โดยยืดเวลาการชำระเงินกู้ให้แก่กลุ่มธุรกิจ SMEs และให้บริการปล่อยเงินกู้หลายรูปแบบผ่านแอปพลิเคชัน
Ant Financial เพื่อให้ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้
Alibaba เคยเปิดตัวโครงการช่วยเหลือ SMEs กว่า 40 ล้านคน ให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2551 มาแล้ว
ส่วน
JD.com ก็มีแผนช่วยฟื้นฟูสภาพคล่องให้กับ SMEs เช่นกัน โดยสนับสนุนวงเงินกู้สูงสุดถึง 100,000 หยวน (ประมาณ 460,000 บาท) และให้สิทธิพิเศษกับร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์ม
JD.com เช่น การจัดหาผู้ผลิตที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลงให้แก่ร้านค้าต่าง ๆ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ จัดทำ และสต็อกสินค้า รวมถึงการบริการอำนวยความสะดวกผ่านระบบดิจิทัลที่ครบวงจร (e-Commerce Ecosystem) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ให้ร้านค้าปลีกสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ถึงแม้ว่าทั้งภาคเอกชนและภาครัฐจะพยายามหาแนวทางและออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 แต่โดยรวมแล้ว นักวิเคราะห์ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในประเทศจีนจะฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นจริง ๆ ในปี 2564 ทั้งนี้ต้องรอติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลก รวมทั้งยังต้องติดตามการพัฒนาวัคซีนที่จะมายับยั้งการระบาดของโรคต่อไป
อ้างอิง