e-Commerce
- 28 ก.ย. 63
-
2060
-
e-Commerce เพื่อชุมชน ตอน ถอดโมเดลพัฒนาชุมชนในต่างแดน สู่การพัฒนาชุมชนไทย ตอนที่ 1
การพัฒนาชุมชน เป็นเรื่องที่หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อลดการกระจุกตัวของคนและพื้นที่เศรษฐกิจไม่ให้จำกัดอยู่เพียงแค่ในเมืองหลวง และเพื่อรักษาวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ให้มีผู้สืบทอดและคงอยู่สืบต่อไป
การที่จะทำให้คนในชุมชนต่าง ๆ ไม่อพยพย้ายถิ่นฐานนั้น สิ่งสำคัญคือการพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ให้เกิดอาชีพและรายได้ และสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณะได้เทียบเท่ากับพื้นที่ในเมือง ซึ่งเงื่อนไขการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป
หลาย ๆ บทเรียนจากต่างประเทศที่เดินหน้าไปก่อนแล้ว ก็สามารถนำมาปรับใช้กับชุมชนในประเทศไทยได้ โดยเฉพาะในเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้มีชุมชน มีอาชีพ มีรายได้ ขณะเดียวกันก็สืบสานสิ่งที่มีอยู่ไปควบคู่กัน
(กลุ่มสตรีตำบลสันโค้ง กลุ่มสตรีบ้านสันป่าตอง จ. พะเยา)
สาธารณัฐประชาชนจีน หรือ ประเทศจีน ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซโลกที่หลายคนรู้จักเป็นอย่างดี ได้นำจุดแข็งของประเทศด้านเทคโนโลยีและระบบ e-Commerce Ecosystem มาช่วยพัฒนาและส่งเสริมชุมชนนอกเขตเมืองให้มีรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ป้องกันไม่ให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนในพื้นที่ชนบท
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาชุมชน เกิดจากในช่วงปี พ.ศ. 2528 - 2558 ที่จีนมีแนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักเกิดจากคนในชนบทไม่มีรายได้ จึงอพยพเข้ามาหางานทำในเขตเมืองเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ให้พื้นที่ชนบทขาดแคลนแรงงานและปัจจัยการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เหลือเพียงเด็ก เยาวชน และคนชรา เท่านั้น
รัฐบาลจีน จึงประกาศนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการขยายตลาดออนไลน์ให้สามารถเข้าถึงคนในชนบทให้ได้มากขึ้น ซึ่งถึงแม้คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานด้านการทำอีคอมเมิร์ซมากนัก แต่ทางการจีนมองว่าคนเหล่านี้สามารถพัฒนาให้กลายเป็นหนึ่งในกำลังขับเคลื่อนสำคัญในตลาดออนไลน์ได้ จึงดำเนินการให้เกิดการขายสินค้าชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ เพิ่มฐานการผลิตสินค้าสู่ตลาดภายนอก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในตลาดให้กับชุมชนชนบท
แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ระดับประเทศร่วมพัฒนาชุมชน
Alibaba บริษัทอีคอมเมิร์ยักษ์ใหญ่ของจีน ได้ดำเนินการโครงการ Taobao Rural Village เพื่อสนับสนุน พัฒนา และผลักดันให้เกิดการทำอีคอมเมิร์ชุมชนตามชนบทของประเทศจีน โดยโครงการนี้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะและกำลังคนให้มีความรู้ด้านดิจิทัลและการใช้งานอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งเป็น 2 โครงการหลัก ได้แก่
- Rural Taobao Service Center ศูนย์ให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับชุมชน เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนในชนบทสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ทำอีคอมเมิร์ซ
- Rural Taobao Partner Initiative ปัญหาสำคัญของการพัฒนาชุมชนในชนบทคือขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัล Alibaba จึงแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการฝึกทักษะ พัฒนาฝีมือผู้ที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการจากทุกชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ และให้ค่าตอบแทนบุคคลเหล่านั้นจากค่าคอมมิชชัน (Commission) ที่เกิดจากการขายสินค้าในชุมชนบนแพลตฟอร์มออนไลน์
ถอดบทเรียน ประยุกต์ ปรับใช้ ให้เข้ากับชุมชนทั่วไทย
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ
ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้การดำเนินงาน
โครงการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน (Thailand e-Commerce Sustainability) เพื่อผลักดันให้การทำอีคอมเมิร์ซสามารถลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ และสร้างชาติ ได้ศึกษาและนำโมเดลการพัฒนาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาชุมชนโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถขายสินค้าออนไลน์และสร้างกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และมั่นคงปลอดภัย โดยการนำเอา 2 การดำเนินการสำคัญของ โครงการ Taobao Rural Village มาปรับใช้กับการพัฒนา อันได้แก่
- ผลักดันให้ประชาชนในชนบท รับรู้เข้าใจ เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและใช้เป็น โดยการต่อยอดจากโครงการเน็ตประชารัฐ ที่ปัจจุบันได้กระจายการให้บริการอยู่ในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ และยังคงมีการดำเนินการขยายพื้นที่ให้บริการอย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนตามชนบทรับรู้ถึงวิธีการใช้อินเทอร์เน็ตและบริการของทางภาครัฐ พร้อมเสริมแทรกความรู้เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และมั่นคงปลอดภัย (Internet for Better Life) ระมัดระวังและเข้าใจเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) และรู้จักหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหากรณีซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ ได้แก่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC
- พัฒนาฝีมือแรงงานสร้างกำลังคนในชุมชน โดยการผสานความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เช่น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) หน่วยงานดูแลและสนับสนุนชุมชนด้านผลิตภัณฑ์และการสร้างรายได้ และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) องค์กรขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมเวิร์กชอป (Workshop) ให้ชุมชนเข้าใจเรื่องของการขายสินค้าและบริการทางออนไลน์อย่างครบวงจร และสามารถขายได้จริง พร้อมมีระบบการจัดการที่ดี
ปัจจุบัน
โครงการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน (Thailand e-Commerce Sustainability) ที่ได้ดำเนินการกับ
สค. และ
ปตท. ได้พัฒนาชุมชนกลุ่มตัวอย่างกว่า 17 ชุมชน จาก 4 ภาค ทั่วประเทศ มีสินค้าชุมชนทั้งประเภทอุปโภค บริโภค และการบริการ จนแต่ละชุมชนสามารถทำการขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมร้านค้าออนไลน์ของทั้ง 17 ชุมชนได้ที่:
- ขนมไทย ไทรม้า กลุ่มพลังสตรีชุมชนบ้านไทรม้าเหนือ จ.นนทบุรี
- ศิริโชติ สมุนไพร วิสาหกิจชุมชน ศิริโชติ-สวัสดิ์กิจ จ.นนทบุรี
- วิสาหกิจชุมชนพลูฟ้า วิสาหกิจชุมชนพลูฟ้า จ.นครปฐม
- พื้นเพปัญญา กลุ่มบ้านอาชีพหนองงูเหลือม จ.นครปฐม
- สแนคคุณย่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสานฝัน จ.ปทุมธานี
- สายเงิน ผ้าไหมทอมือ กลุ่มทอผ้าบ้านหนองห้า จ.น่าน
- กระติบญาติเยอะ ชุมชนบ้านสันบัวบก จ.พะเยา
- น้ำพริกติดตู้ กลุ่มสตรีตำบลสันโค้ง กลุ่มสตรีบ้านสันป่าตอง จ. พะเยา
- เนินคีรี โดย กลุ่มสตรีบ้านเนินคลี กลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีบ้านเนินคลี จ.พิษณุโลก
- วังผาชัน ผ้าทออุตรดิตถ์ กลุ่มทอผ้าบ้านวังผาชัน จ.อุตรดิตถ์
- เสื้อจุบหม้อและผ้าทอ by ผกาพรรณ กลุ่มเย็บเสื้อจุบหม้อบ้านโศกลึก จ.ชัยนาท
- ยาฮา เบเกอรี่ ชุมชนขนมอบบ้านดอนขี้เหล็ก จ.สงขลา
- กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านศาลาใหม่ จ.นราธิวาส
- หอมป่าฮอมดอย โดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประดิษฐ์และแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน จ.เชียงใหม่
- แม่ทาออร์แกนิค โดย วิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค จ.เชียงใหม่
- ไทยพิมาน โดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองไทพิมาน จ. นครพนม
- ป้อมยางนา โดย วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านพิมาน จ. นครพนม