Digital Service
- 12 พ.ค. 66
-
991
-
Data Spectrum - มาตรวัดระดับการเปิดให้เข้าถึงข้อมูล
ข้อมูลได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล กลุ่มคน หรือองค์กร เช่น การพูดคุยกันผ่านสื่อสังคม การซื้อของออนไลน์ การค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ไปจนถึงการดำเนินธุรกิจและบริหารจัดการองค์กร ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลทั้งสิ้น สำหรับองค์กรแล้วข้อมูลเปรียบเสมือนขุมทรัพย์อันมีค่า ดังคำกล่าว “Vast Trove of Data” ที่มีการพูดถึงกันในสื่อต่างประเทศอย่างแพร่หลายเพื่อยกย่องข้อมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง จนบ่อยครั้งเราจะเห็นตัวอย่างที่ข้อมูลทำหน้าที่เป็นตัวแปรเชิงกลยุทธ์ชี้ชะตาการแข่งขันในตลาด เช่น ธุรกิจที่เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง (Customer Insights) ก็จะสามารถพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ารายบุคคล (Personalization) ได้ตรงจุดมากกว่าคู่แข่ง จึงนำไปสู่เสียงตอบรับที่ดีกว่าและตามมาด้วยโอกาสในการเติบโตที่กว้างกว่า
ข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีประโยชน์หลากหลายมิติ จึงมีการใช้งานที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ข้อมูลในทางที่ผิด (Misuse of Data) เราทุกคนในฐานะผู้ใช้ข้อมูลจึงควรทำความเข้าใจการเข้าถึงข้อมูลประเภทต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลจะถูกนำไปใช้ (Data Utilization) และแบ่งปัน (Data Sharing) กันอย่างถูกต้อง ไม่ขัดต่อจริยธรรมและเงื่อนไขข้อกำหนดความรับผิดชอบ
แนวคิด “Data Spectrum” หรือ “มาตรวัดระดับการเปิดให้เข้าถึงข้อมูล” ของ Open Data Institute (ODI) ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้ใช้ข้อมูลเห็นภาพการเข้าถึงข้อมูลประเภทต่างๆ ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแบ่งประเภทข้อมูลตามระดับการเปิดให้เข้าถึงไว้ 5 ระดับ ไล่เรียงจากจำกัดการเข้าถึงไปยังเปิดให้เข้าถึงได้อย่างอิสระ ดังนี้
Level 1: Internal Access ข้อมูลในระดับนี้จะถูกจำกัดการเข้าถึงให้อยู่ภายในองค์กรหนึ่ง ๆ เท่านั้น มีการปิดกั้นไม่ให้เปิดเผยสู่ภายนอก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นข้อมูลประเภทที่มีความละเอียดอ่อน มีผลต่อการแข่งขันเชิงธุรกิจ หรือมีข้อผูกพันธ์ที่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาจ้างและนโยบายขององค์กร เช่น ข้อมูลยอดขายรายแผนก ข้อมูลความลับทางการค้า และข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับพนักงานหรือลูกค้า เป็นต้น
Level 2: Named Access ข้อมูลในระดับนี้จะถูกจำกัดการเข้าถึงเฉพาะกลุ่มโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายในองค์กรเดียวกัน หากแต่จะต้องได้รับการอนุญาตภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา หรือจำเป็นต้องแสดงตนว่าเป็นเจ้าของข้อมูล เช่น ข้อมูลผลการสอบรายบุคคลหรือผลการตรวจสุขภาพ ซึ่งถือเป็นข้อมูลความลับ (Confidential Data) และจำเป็นต้องได้รับการปกป้องความเป็นส่วนตัว เป็นต้น
Level 3: Group-based Access ข้อมูลในระดับนี้จะถูกจำกัดการเข้าถึงเฉพาะกลุ่มเช่นเดียวกันกับระดับที่ 2 หากแต่จะสามารถเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อผ่านการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นข้อมูลประเภทที่แบ่งปันกันภายในกลุ่มหรือหมู่คณะที่ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันไว้ เช่น ข้อมูลการวิจัยทางการตลาดเชิงลึกที่ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกเพื่อเข้าถึง เป็นต้น
Level 4: Public Access ข้อมูลในระดับนี้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ และบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องขออนุญาต อย่างไรก็ตาม การจะนำข้อมูลประเภทนี้ไปใช้ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการวิเคราะห์ วางแผน ตัดสินใจ หรือเชิงวิชาการ ฯลฯ จำเป็นต้องยอมรับสิทธิ์และปฏิบัติตามข้อกำหนดการใช้งาน เช่น ข้อมูลงบการเงินของบริษัทที่มีการเผยแพร่สาธารณะ เป็นต้น
Level 5: Anyone ข้อมูลในระดับนี้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ และบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระ เนื่องจากเป็นข้อมูลประเภทที่ตั้งใจหรือควรได้รับการเผยแพร่ เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ทราบได้โดยง่าย หรือมีความเสี่ยงต่ำ จึงไม่จำเป็นต้องมีการขออนุญาตในการเข้าถึงหรือจำกัดการใช้งาน เช่น บทความ ข่าว ประกาศสาธารณะ ข้อมูลที่ตั้งของธนาคาร เป็นต้น
ที่ผ่านมา หลายภูมิภาคทั่วโลกได้มีการทำ Data Sharing เกิดขึ้นแล้ว ทั้งในสหภาพยุโรป (Common European Data Spaces) สหรัฐอเมริกา (Open Banking) และออสเตรเลีย (Consumer Data Right) สำหรับประเทศไทยเองก็เริ่มมีการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลเปิดของภาครัฐ หรือ Open Government Data เช่นกัน ซึ่งเป็นการเปิดให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ในภาคธุรกิจเอกชนกลับยังไม่ค่อยมี Data Sharing มากนัก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และดูแลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการทำ Data Sharing และพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการแบ่งปันข้อมูลให้เกิดขึ้น เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก
แหล่งอ้างอิงข้อมูล สำหรับเขียนบทความ
- Open Data Institute: The Data Spectrum