Digital Service
- 27 ก.ย. 64
-
1727
-
ETDA Sandbox ขับเคลื่อนนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตดิจิทัล
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์สำคัญมากขึ้นและมากขึ้นในทุกวันนี้ ยิ่งเมื่อเราต้องเจอภัยจากโควิด-19 เราก็ยิ่งตระหนักถึงความสำคัญ และเกิดการคิดค้นพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยตอบโจทย์หรือ pain point ที่ทุกคนต้องเจอให้ดีขึ้นกว่าเดิม
แต่สิ่งที่ผู้พัฒนากังวล คือ นวัตกรรมหรือบริการดิจิทัลที่พวกเขาคิด ตอบโจทย์การใช้งานที่เหมาะสมหรือยัง มีแนวทางที่สอดคล้องกับการใช้งานที่ถูกต้องตามกฎระเบียบข้อบังคับหรือไม่ และจะสามารถทำให้ผู้ใช้งานคลายความกังวล รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยอมรับหรือเปล่า
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงเปิดสนามทดสอบนวัตกรรม หรือ Sandbox ภายใต้ โครงการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Service Sandbox มาตั้งแต่ปี 2563
โดยล่าสุด ได้เปิดกว้างกับทั้งหน่วยงานของรัฐ เอกชน สตาร์ตอัป หรือกลุ่มหน่วยงานที่ได้รับการรับรอง ที่มีการดำเนินงานและวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้ที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยี สามารถเข้าร่วมทดสอบนวัตกรรมหรือบริการของตนก่อนการให้บริการจริงภายในสภาพแวดล้อมและการให้บริการที่จำกัด เพื่อให้สามารถรองรับ Business Model ใหม่ ๆ ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ และประชาชนสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังจัดงาน Open ETDA Sandbox เปิดบ้าน แชร์ไอเดีย ร่วมสร้างนวัตกรรมสู่ชีวิตดิจิทัล เพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินงาน พร้อมทิศทางของ ETDA Sandbox ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา
ETDA Sandbox คืออะไร
ETDA ได้ดำเนิน
โครงการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ
Digital Service Sandbox เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมทดสอบ เช่น ผู้ให้บริการหรือผู้ที่ประสงค์จะให้บริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งรัฐ เอกชน หรือสตาร์ตอัป สามารถนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้านต่าง ๆ ได้เข้าร่วมทดสอบนวัตกรรมหรือบริการที่มี ก่อนที่จะนำไปใช้บริการจริง เพื่อให้สามารถรองรับโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ รวมทั้งประชาชนได้ใช้ประโยชน์และเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า บริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาใช้และต้องการเข้ามาทดสอบใน ETDA Sandbox อาจเป็นเทคโนโลยีที่ไม่เคยมีการให้บริการมาก่อน หรือมีความแตกต่างจากบริการที่มีอยู่แล้ว ตลอดจนการร่วมกันเป็นผู้ร่วมออกแบบ ในลักษณะของพาร์ตเนอร์ที่ช่วยกันคิดหรือเสนอแนะไอเดีย เพื่อการส่งเสริมนวัตกรรม ร่วมต่อยอดการใช้งานกับหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายการดำเนินงาน รวมถึง สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเจ้าของนวัตกรรม และผู้ประกอบการที่จะไปใช้บริการก็ได้ โดย ETDA พร้อมเป็นพี่เลี้ยงในการให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่เจ้าของนวัตกรรม ในการร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือบริการดิจิทัลให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐาน กฎหมายที่มีอยู่เดิม หรือกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างพิจารณาของสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา
“การผลักดันในการนำมาใช้กับชีวิตประจำวันและธุรกิจ หลายหน่วยงานต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะเรื่องการทำธุรกรรมทางดิจิทัล ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นตัวช่วยสำคัญสร้างให้เกิดความเชื่อมันด้านความมั่นคงปลอดภัย และ ETDA จะดูรายละเอียดในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ ซึ่งในอนาคตคาดหวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ยังได้นำระบบ AI มาใช้ เพิ่มความราบรื่นในการใช้งานได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้นำมาใช้กับงานด้านสาธารณสุข อย่างการออกใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผลตรวจโรคโควิด-19 แล้ว เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมจะร่วมขับเคลื่อนเต็มที่
"Sandbox ของ ETDA เกิดขึ้นจากความต้องการของการใช้งานและความพร้อมของเทคโนโลยี ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานที่เหมาะสม และมีแนวทางที่สอดคล้องกับการใช้งานที่ถูกต้องตามกฎระเบียบข้อบังคับ ทำให้ผู้ใช้งานคลายความกังวล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยอมรับ” ดร.ชัยชนะ กล่าว
ETDA Sandbox เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ
ทิพยสุดา ถาวรามร คณะกรรมการกำกับ ETDA และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า การดำเนินงานของผู้ให้บริการที่ผ่านมานั้น มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่อง Digital ID เป็นเรื่องที่สำคัญในบริการหลายอย่างที่ต่อยอดได้ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่พบว่า ยังไม่มีการนำระบบใด ๆ มาใช้ได้เต็มรูปแบบหรือรองรับ เช่น วัคซีนพาสปอร์ต จึงอยากให้ผู้ให้บริการที่เข้ามาทดสอบ เมื่อออกไปแล้วสามารถนำไปใช้งานได้จริง โดยคาดหวังว่า จะมีบริการที่เข้า ETDA Sandbox แล้วได้นำไปใช้ในวงกว้างขึ้น ไม่ใช่การใช้ประโยชน์เพียงการลดกระดาษ
พัฒนานวัตกรรม ตอบโจทย์ประชาชน ไม่เป็นภาระผู้ประกอบการ
วิจิตรเลขา มารมย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมต้องตอบโจทย์ประชาชน แต่ต้องไม่เป็นภาระผู้ประกอบการด้วย โดย Sandbox จะเข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องของการลดความเสี่ยงของการใช้เทคโนโลยี และความเสี่ยงของผู้ให้บริการที่เข้ามาทดสอบ ว่ามีจุดไหนบ้างที่ผู้ให้บริการยังไม่สามารถที่จะปิดความเสี่ยงนั้นได้ และเมื่อมองไปถึงการให้บริการในวงกว้างผู้ให้บริการมีศักยภาพที่จะดูแล หรือคุ้มครองผู้บริโภคในวงกว้างนั้นได้มากน้อยแค่ไหน
Sandbox สามารถที่จะมาช่วยคัดกรอง ช่วยดูความพร้อม และช่วยดูความเสี่ยงของผู้ให้บริการทุกเรื่องได้อย่างเหมาะสม และสามารถรับผิดชอบต่อผู้บริโภคได้ หรือมีช่องทางในการติดต่อ ช่วยเหลืออย่างไรบ้าง
แชร์ประสบการณ์ผู้เข้า ETDA Sandbox แล้ว
วรพจน์ ธาราศิริสกุล บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจมาร์ท เล่าว่า บริษัทมีหน้าที่การหาเทคโนโลยีเพื่อทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น และนำไปต่อยอดให้คนภายนอกสามารถนำมาใช้ได้ โดยสิ่งที่ได้นำมาทดสอบใน ETDA Sandbox มี 2 เรื่องคือ Digital ID หรือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งสามารถใช้ทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้เลย อีกส่วนคือ e-Meeting ซึ่งใช้เทคโนโลยี Blockchain มาทำระบบการลงคะแนนหรือ Voting เมื่อนำมารวมกันทำให้มีนวัตกรรมที่นำใช้ในงานสำคัญ ๆ ของบริษัทได้ ซึ่งเหมาะกับการประชุมนิติฯ คอนโดและการประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งได้ทำตามมาตรฐานของ ETDA เมื่อทำแล้วก็อยากให้มีการแนะนำ ช่วยตรวจสอบ ช่วยในการประสานกับหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการให้มาตรฐาน การออกแบบ ซึ่งทุกเทคโนโลยีได้มีการให้คำปรึกษาจาก ETDA มาโดยตลอด
ขณะที่ บุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด ได้นำนวัตกรรมเกี่ยวกับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลหรือ Digital ID ในกลุ่มธุรกิจสินเชื่อดิจิทัลที่จะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสำหรับภาคธุรกิจในอนาคต กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาพบว่า มีการปลอมแปลงเอกสารทำธุรกรรมการเงิน แม้ว่าประเทศไทยมีบัตรประชาชนที่เป็นสมาร์ตการ์ด แต่ยังต้องใช้สำเนาอยู่ การทำธุรกรรมเป็นดิจิทัลทำให้คนมักจะเกิดความกลัว แต่สิ่งที่ทำคือ ไม่น่ากลัวและมีมาตรฐานที่ ETDA ช่วยวางไว้ จึงได้เข้ามาร่วมตรงนี้
ชมต่อ ที่นี่
ETDA Sandbox เกิดขึ้นจากความต้องการของการใช้งานและความพร้อมของเทคโนโลยี ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานที่เหมาะสม และมีแนวทางที่สอดคล้องกับการใช้งานที่ถูกต้องตามกฎระเบียบข้อบังคับ ทำให้ผู้ใช้งานคลายความกังวล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยอมรับ