Digital Law
- 17 มิ.ย. 64
-
10481
-
e-Meeting กับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แบบไหนทำได้ แบบไหนทำไม่ได้
ประชุมตรวจรับกันหรือยัง ประชุมทีโออาร์กันแบบไหน ประชุมพิจารณาผลกันยังไง ถ้าใช้ e-Meeting แน่ใจมั้ยว่าทำถูกระเบียบกระทรวงการคลังและแนวทางการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง
ผลจาก COVID-19 สู่การเพิ่มเติมข้อกฎหมาย
เป็นที่ทราบกันว่า
พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 หรือ
พ.ร.ก. e-Meeting บัญญัติว่า กฎหมายนี้ ไม่ใช้บังคับแก่ การประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ
ด้วยเหตุดังกล่าว ส่งผลให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตาม
พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และ
ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไม่อาจนำ e-Meeting มาใช้กับการประชุมเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างได้
ในคราวการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (คณะกรรมการวินิจฉัย) ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 มีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) ซึ่งส่งผลให้การประชุมเพื่อดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอาจเกิดความไม่คล่องตัว และแม้ว่า พ.ร.ก.e-Meeting จะเป็นกฎหมายกลางที่กำหนดในเรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม แต่เนื่องจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 บัญญัติในเรื่ององค์ประกอบและองค์ประชุมซึ่งกระทำโดยคณะกรรมการ และหน้าที่ของผู้รับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้างไว้เฉพาะ โดยให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด ประกอบกับปัจจุบันระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดการประชุมของคณะกรรมการแต่ละคณะไว้ตามนัยข้อ 27
ข้อ 27 การประชุมของคณะกรรมการแต่ละคณะ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ให้ประธานกรรมการและกรรมการแต่ละคนมีเสียงหนึ่งในการลงมติ โดยประธานกรรมการต้องอยู่ด้วยทุกครั้งในการประชุม หากประธานกรรมการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐแต่งตั้งประธานกรรมการคนใหม่เป็นประธานกรรมการแทน
มติของคณะกรรมการให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการออกเสียง เพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุให้ถือมติเอกฉันท์
กรรมการของคณะใดไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการ ให้ทําบันทึกความเห็นแย้งไว้ด้วย
ประธานกรรมการและกรรมการ จะต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญา ในการซื้อหรือจ้างครั้งนั้น ทั้งนี้ การมีส่วนได้เสียในเรื่องซึ่งที่ประชุมพิจารณาของประธานกรรมการ และกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
หากประธานหรือกรรมการทราบว่าตนเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาในการซื้อ หรือจ้างครั้งนั้น ให้ประธานหรือกรรมการผู้นั้นลาออกจากการเป็นประธานหรือกรรมการในคณะกรรมการที่ตนได้รับการแต่งตั้งนั้น และให้รายงานหัวหน้าหน่วยงานของรัฐทราบเพื่อสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันและในอนาคต การจะกำหนดให้การประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ จึงได้มีการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 27 โดยกำหนดเพิ่มเติมให้การประชุมดังกล่าวสามารถกระทำได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การดำเนินการประชุมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐเกิดความคล่องตัวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... ซึ่ง
คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564
ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 จึงมีผลให้ใช้บังคับ โดย ข้อ 3 ในประกาศดังกล่าว ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็น วรรคหก ของข้อ 27 แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
“การประชุมของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง อาจประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด”
ในวันเดียวกันนั้น (13 พฤษภาคม 2564) คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (กวจ.) จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง (6) ประกอบมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 27 วรรคหก จึงได้กำหนด
แนวทางการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ รายละเอียดตาม
หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 279 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 เพื่อให้การดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เป็นไปอย่างคล่องตัว อันจะส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตามเป้าหมายที่กำหนด
ตรวจรับล่าช้าเกิน 5 วัน ทําการ ไม่สามารถเอาเหตุเรื่องโควิด-19 มาอ้าง ได้แล้ว
สาระสำคัญของแนวทางการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ มีอะไรบ้าง
1. การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
1.1 กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่หน่วยงานของรัฐ อาจใช้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เฉพาะกรณีการประชุมพิจารณาเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างหรือการนำเสนองานหรือการประชุมพิจารณาพัสดุที่ไม่จำเป็นต้องจับต้องหรือตรวจรับทางกายภาพของตัวพัสดุที่ส่งมอบนั้น เช่น
- การประชุมพิจารณาเอกสารของคณะกรรมการเพื่อจัดทำร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ
- การประชุมพิจารณาเอกสารของผู้ยื่นข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์หรือคณะกรรมการพิจารณาผลการสอบราคา หรือคณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีคัดเลือก หรือคณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง หรือคณะกรรมการดำเนินงานจ้างที่ปรึกษา หรือคณะกรรมการดำเนินงานจ้างออกแบบ หรือควบคุมงานก่อสร้าง
- การประชุมของผู้มีอำนาจในการสั่งซื้อหรือสั่งจ้าง เช่น คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ หรือสภามหาวิทยาลัย
- การประชุมของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ เช่น การตรวจรับพัสดุในการตรวจรับพัสดุในงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง การตรวจรับระบบหรือซอฟต์แวร์ที่อยู่บน Cloud หรือการใช้วิธีการเข้าถึงทางไกล (Remote access) หรือการตรวจรับพัสดุในงานก่อสร้าง คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานก่อสร้างอาจประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ในกรณีการประชุมพิจารณาบันทึกผลการออกตรวจงานจ้างก่อสร้างของกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุให้ออกตรวจงานจ้าง ณ สถานที่ที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือที่ตกลงให้ทำงานจ้างนั้น ๆ ตามระเบียบฯ ข้อ 176 (3) เป็นต้น
1.2 การประชุมที่นอกเหนือจากข้างต้นในข้อ 1.1 ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
2. การจัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
2.1 การส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุม จะส่งโดยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยผู้ทำหน้าที่จัดการประชุมต้องจัดเก็บสำเนาหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมไว้เป็นหลักฐานในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
2.2 ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้องดำเนินการดังนี้
(1) จัดให้ผู้ร่วมประชุมแสดงตนเพื่อร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนร่วมการประชุม
(2) จัดให้ผู้ร่วมประชุมสามารถลงคะแนนได้
(3) จัดทำรายงานการประชุมเป็นหนังสือ
(4) จัดให้มีการบันทึกเสียงหรือทั้งเสียงและภาพ แล้วแต่กรณี ของผู้ร่วมประชุมทุกคน ตลอดระยะเวลาที่มีการประชุมในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
(5) จัดเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ร่วมประชุมทุกคนไว้เป็นหลักฐาน
ข้อมูลตาม (4) และ (5) ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประชุม
2.3 มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมาตรฐานระบบควบคุมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ดำเนินการตาม
ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และตาม
ประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนด
2.4 การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามแนวทางนี้ ให้ถือว่าเป็นการประชุมที่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้เข้าร่วมประชุมสามารถได้รับค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเรื่องแนวทางการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ รายละเอียดตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 279 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลางหมายเลข 02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ
e-Meeting ทำได้เฉพาะกรณีการประชุมพิจารณาเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง การนำเสนอ การประชุมพิจารณาพัสดุที่ไม่จำเป็นต้องจับต้อง หรือตรวจรับทางกายภาพ