Foresight
- 19 ธ.ค. 62
-
1477
-
ETDA โชว์ผลงาน 9 ปี เร่งสปีดสู่ปีที่ 10 ตามกฎหมายใหม่
ย้ำเศรษฐกิจอนาคต...ต้องพร้อมทั้งข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเท่าระดับสากล
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินหน้างานเชิงรุก หนุนต่อยอดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เสริมการปรับตัวของธุรกิจ การให้บริการและอำนวยความสะดวกประชาชนของภาครัฐ และการสร้างรายได้แม้มีแค่มือถือ หวังผลให้เศรษฐกิจของประเทศโตอย่างยั่งยืนจากโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นกับ Disruptive Technology พร้อมเป็นลมใต้ปีก จับมือพันธมิตรชั้นนำ เช่น ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย หนุนคนไทยโกออนไลน์ เพื่อโอกาสและชีวิตที่ดีกว่า ลดเหลื่อมล้ำ นำรายได้ให้ชุมชน และช่วยผู้ประกอบการ SMEs
ในงาน ETDA Step into Year 10 ที่จัดขึ้นในโอกาสที่ ETDA ได้เดินทางมาครบปีที่ 9 และเดินหน้าสู่ปีที่ 10 โดย สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA ได้มาแชร์มุมมองกับผู้บริหารจากหน่วยงานและองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ที่เป็น Partners สำคัญของ ETDA ตลอดเกือบ 9 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งสื่อมวลชน ถึงเรื่อง Big Change ของ ETDA และก้าวต่อไปกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และยังได้รับเกียรติจากบริษัทชั้นนำอย่าง ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย โดย ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย มาแชร์ก้าวสำคัญในเรื่องการใช้ AI ว่ามี Success Story อย่างไรบ้าง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้ใหม่ของ ETDA ที่ชั้น 15 อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ แกรนด์ พระราม 9 กรุงเทพฯ
Big Change ของ ETDA
สุรางคณา เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่เริ่มก่อตั้งมาเมื่อปี 2554 จากองค์กรตาม พ.ร.ฎ. สู่องค์กรตาม พ.ร.บ. ในปี 2562 กับการเดินทางมาถึงปีที่ 9 และก้าวต่อไปในปีที่ 10 ETDA จะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งโครงสร้าง การทำงาน และการมีโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งเรื่องบล็อกเชน (Blockchain) AI หรือปัญญาประดิษฐ์ Machine Learning รวมทั้งเรื่อง Big Data
"งานทั้งหมดจะเร่งสปีดไม่ได้เลย หากขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างเรื่องกฎหมาย ซึ่งการมีทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) และ พระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 ทำให้บทบาทของ ETDA ชัดเจนขึ้น สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการทำธุรกรรมทางออนไลน์ของประเทศ"
Data Analytics ที่มาก่อน Big Data
ที่ผ่านมา ตลอดเกือบ 9 ปี ETDA ได้ขับเคลื่อนงานสำคัญมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษกิจและสังคมไทย เช่นงานกลุ่มสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ที่ ETDA ทำมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเทศไทย ซึ่งได้รับการรับรองจาก UNCTAD สหประชาชาติ ในการเผยแพร่ให้กับสมาชิก, การสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต (Internet User Profile) ของคนไทยในมิติต่าง ๆ เพื่อดูว่าคนไทยปรับใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไรบ้างในแต่ละปี, ข้อมูลด้าน e-Payment และ e-Trading and Service เพื่อนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ของธุรกรรมออนไลน์ในปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมออนไลน์ในแต่ละอุตสาหกรรมในภาพรวมของประเทศ งานเหล่านี้เป็นเหมือนงาน Big Data ในยุคนี้ที่คนให้ความสนใจ แต่การที่เอกชนยังไม่แชร์ข้อมูลกัน ทำให้การสำรวจโดยภาครัฐอย่าง ETDA ยังมีความจำเป็นอยู่
“ประเทศเราจะก้าวไปทางไหน...ต้องรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน ต้องรู้ว่าผู้ประกอบการ ร้านค้าบนแพลตฟอร์มมีจำนวน และมีรายได้เท่าใร เมื่อคนเปลี่ยนไป Go Online กันหมด คนใช้ Line ถึง 44.0 ล้านบัญชี ใช้ Facebook 54.0 ล้านบัญชี ใช้ PromptPay 46.5 ล้าน และลงทะเบียน ชิม ช้อป ใช้ เกือบ 15 ล้านคน ทั้งหมดนี้คือคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ต และผลสำรวจการใช้อินเทอร์เน็ตของ ETDA ปีล่าสุด เราใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยสูงถึง 10 ชม. 5 นาที ต่อวัน การซื้อของออนไลน์ ติด 1 ใน 5 ของกิจกรรมยอดฮิต 2 ปีติดต่อกัน ขณะที่ตัวเลขผู้ประกอบการ SME ไทย มีสูงถึง 2,736,744 ราย (สสว.) ผู้ประกอบการเหล่านี้จะปรับตัวกับยุคดิจิทัลอย่างไร และคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตจะใช้โอกาสในการสร้างรายได้บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างไร นี่คือสิ่งที่ต้องมีการวางแผนบูรณาการร่วมกันทุกฝ่าย” นางสุรางคณา กล่าว
Legal Certainty ถ้าไม่มี นานาชาติก็ไม่เชื่อมั่น
การวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศคืออีกงานสำคัญของ ETDA โดยเฉพาะการสร้างหลักความแน่นอนทางกฎหมาย (Legal Certainty) เพื่อให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะนานาชาติเกิดความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ซึ่ง ETDA ได้มีส่วนรวมในการขับเคลื่อนชุดกฎหมายดิจิทัลกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจนเกิดผลเป็นรูปธรรมทั้งหมดในปี 2562 พร้อมจัดทำมาตรฐาน ที่ถือเป็นแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับระดับสากล เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างกันได้ รวมทั้งพัฒนาบริการที่สอดคล้องกับมาตรฐานข้างต้น เช่น ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือ หรือ TEDA (Trusted Electronic Document and Authentication) ช่วยในการแปลงแบบฟอร์มราชการเดิมให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ที่นำข้อมูลมาใช้ต่อได้ กำหนดแนวทางว่า การลงนามเอกสาร การจัดเก็บเอกสารระยะยาว ที่เป็น e-Document ว่าจะต้องทำอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีบริการประทับรับรองเวลา (e-Timestamping) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ e-Document ทำให้มั่นใจว่าข้อมูลนั้นสร้างขึ้น ณ เวลาใด โดยอาศัยกลไกการอ้างอิงเวลาของคนกลาง โดยที่ผ่านมา ETDA ได้ช่วยในการสร้างความเชื่อถือกับหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สำนักงานศาลปกครอง นอกจากนี้ยังพัฒนามาตรฐานข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ใบเพิ่มหนี้/ลดหนี้อิเล็กทรอนิกส์ ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ (e-Invoice) และใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์อย่างย่อให้กรมสรรพากรด้วย
e-Commerce ไปได้อีก
ด้าน e-Commerce ทาง ETDA ได้เตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการทำอีคอมเมิร์ซ ตลอดจนจับมือกับภาคการศึกษา ในการผลักดันให้นิสิตนักศึกษาเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ เริ่มจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก่อนขยายความร่วมมือสู่ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เพิ่งมีการลงนามความร่วมมือกัน
นอกจากนี้ ยังมีงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์และการสร้างความตระหนักในการดูแลตัวเองในเบื้องต้น พร้อมมีกลไกช่วยเหลือผู้บริโภคออนไลน์ผ่านทางสายด่วน 1212 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์, กิจกรรมสร้างความตระหนักในการใช้อินเทอร์เน็ต ให้เสริมสร้างรายได้ และรู้เท่าทันภัยคุกคามไซเบอร์ (Internet for Better Life) และงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) เพื่อดูแลระบบนิเวศทางออนไลน์ให้มั่นคงปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นต่อธุรกรรมออนไลน์ผ่านศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือ “ไทยเซิร์ต” (ThaiCERT) และศูนย์ดิจิทัลฟอเรนสิกส์ (Digital Forensic Center) เพื่อสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในการสืบสวนสอบสวนหลักฐานพยานด้านดิจิทัล
งานสำคัญที่จะเดินหน้า
สำหรับงานสำคัญที่จะเร่งเดินหน้าในก้าวครบทศวรรษของ ETDA คือ การเตรียมพร้อมประเทศให้รับความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น โดย 2 ธุรกิจบริการที่ควรผลักดันให้มีการกำกับดูแลโดยเร็ว คือ การกำกับดูแลผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนอกจากการยกระดับของผู้ประกอบการแล้ว ยังทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างระบบในทางเทคนิคของผู้ให้บริการแต่ละราย และการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลหรือ Digital ID ซึ่งปัจจุบันถือเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อขั้นตอนการทำธุรกรรมทางออนไลน์ของประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องดูแลให้ระบบน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย และรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น บล็อกเชนได้
นอกจากนี้ ทาง ETDA ยังศึกษาเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ รวมถึงพัฒนาข้อเสนอแนะที่สำคัญ แนวทางการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ และพัฒนาระบบต้นแบบพร้อมสนามทดสอบสำหรับทดลองการใช้งาน หรือ Prototype และ Sandbox เพื่อให้การให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีประสิทธิภาพ คุณภาพ มั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ อีกทั้งตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานใน Ecosystem ด้วย
FEGO เวทีแลกเปลี่ยนของคนมากประสบการณ์ และ Young Gen ที่ Success เพื่อประเทศไทย
ในปีที่ผ่านมา ETDA ยังได้ก่อตั้งสถาบันเศรษฐกิจอนาคตและธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต พร้อมเปิดหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูง
Future Economy & Internet Governance Executive Program (FEGO) รุ่นที่ 1 เพราะหวังให้ผู้บริหารประเทศในระดับนโยบายได้มาแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารบริษัทเทครุ่นใหม่ เพื่อร่วมกันผลักดันแนวคิดหรือนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งเตรียมจะเปิดรุ่นที่ 2 ในเร็ว ๆ นี้ โดยในวันนี้ ถือเป็นอีกเวทีของคน FEGO ได้มารวมตัวกันเพื่ออัปเดตอะไรใหม่ ๆ พร้อมร่วมรับฟังบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีอย่างไมโครซอฟท์ ที่ได้มาแชร์ก้าวสำคัญในการบริหารองค์กรด้วยการเปิดรับ AI กับหัวข้อ “AI Game Changer” ว่ามีความสำเร็จอย่างไร
AI Game Changer
ด้าน
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ได้ผสานความร่วมมือกับสถาบัน FEGO ของ ETDA เพื่อจะผลักดัน e-Training ในหลักสูตร AI Business School ไปสู่ผู้นำและผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทย นี่เป็นเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกันของทั้งสองฝ่ายในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจไทยให้มีศักยภาพเชิงดิจิทัลที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยหลักสูตรนี้จะมุ่งสร้างพื้นฐานและความเข้าใจให้ผู้นำองค์กรยุคใหม่สามารถนำความรู้ไปกำหนดทิศทางและปรับกลยุทธ์ในการใช้งาน AI ในองค์กร ปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมเพื่อเปิดรับ AI ให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ทราบถึงนวัตกรรมล่าสุดที่เป็นประโยชน์กับองค์กร และตระหนักถึงการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งหลักสูตร
AI Business School ออกแบบมาเพื่อตอบรับกับความแตกต่างของแต่ละอุตสาหกรรม ด้วยคอร์สเนื้อหาเข้มข้นสำหรับธุรกิจและองค์กรในภาคการผลิต ค้าปลีก การแพทย์ การเงิน การศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ
“
ในฐานะผู้นำระดับโลกในด้านนวัตกรรม AI ไมโครซอฟท์ยังคงขับเคลื่อนการใช้งาน AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกภาคส่วนของไทย โดยมุ่งเน้นไปที่การเลือกเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับจุดประสงค์หรือความท้าทายของแต่ละหน่วยงานและองค์กรเป็นสำคัญ โดยแบ่งแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวออกเป็น 4 มิติใหญ่ๆ ได้แก่ Engage (การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย) Innovate (การสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ) Work (การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน) และ Solve (การเอาชนะอุปสรรคเพื่อแก้ไขปัญหาในสังคม)”
ธนวัฒน์ กล่าว