TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกับการช่วยฟื้นฟู SMEs ในประเทศจีน หลังวิกฤต COVID-19

e-Commerce Documents
  • 30 ก.ย. 63
  • 1578

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกับการช่วยฟื้นฟู SMEs ในประเทศจีน หลังวิกฤต COVID-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก สำหรับสถานการณ์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศแรกที่พบการระบาดของโรค ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 มียอดผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ถึง 3,869 คน และผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อจำนวนกว่า 50,000 ราย ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของเศรษฐกิจจีนทันที

GDP ไตรมาสแรกของ จีน ติดลบครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี

นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ที่ GDP ของจีนติดลบในไตรมาสแรก จากที่เคยคาดการณ์ว่า GDP ประเทศในปี 2563 นี้ จะพุ่งสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ด้านสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ต้องปิดไตรมาสแรกไปด้วยตัวเลขติดลบถึง 6.8% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการระบาดของโรคที่มีผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศ ทำให้หลายธุรกิจไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจรายย่อย หรือ SMEs เนื่องจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดและเด็ดขาดหลายอย่างจากทางการจีนที่ยืดเยื้อกว่า 3 เดือน ส่งผลให้ธุรกิจในกลุ่ม SMEs มากกว่า 50% ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และเกิดการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมหาศาลเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการจ้างงานจากกลุ่ม SMEs นับเป็น 90% ของการจ้างงานทั่วประเทศ และผลผลิตของ SMEs ถือเป็นตลาดใหญ่ถึง 80% ของจำนวนสินค้าส่งออกทั้งหมด ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงพยายามออกนโยบายเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง (Lockdown)

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ ช่วยหนุน SMEs ฝ่าวิกฤต

นอกจากความช่วยเหลือและมาตรการจากทางการจีนแล้ว 2 แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง JD.com และ Alibaba ต่างก็เล็งเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงวางแผนหาแนวทางช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูธุรกิจในกลุ่ม SMEs ของจีน ให้อยู่รอดจากผลกระทบที่เกิดขึ้น

Picture1.jpg

Alibaba เปิดตัวโครงการช่วยเหลือ SMEs ที่ต้องการขยายตลาดการส่งออก โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ในการ พา SMEs บุกตลาดต่างประเทศด้วยแพลตฟอร์มในเครืออาลีบาบากรุ๊ป อย่าง Aliexpress Lazada และ Tmall Global ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการและมีฐานลูกค้าอยู่ทั่วโลก โดยเน้นอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายผ่านบริการหน้าเว็บที่เป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้สื่อสารและซื้อขายได้ง่าย รวมถึงนำระบบอัตโนมัติต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือผู้ขาย ทั้งการขายในรูปแบบขายส่งและขายปลีก

ในส่วนภาคการผลิต Alibaba นำร่องโดยการสร้างศูนย์เกษตรกรรมรูปแบบดิจิทัล 1,000 แห่งกระจายทั่วประเทศ เพื่อช่วยยกระดับการจัดการห่วงโซ่อุปทานของ SMEs โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยลดปัญหาการผลิตด้านต่าง ๆ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือ SMEs ในด้านการเงิน โดยยืดเวลาการชำระเงินกู้ให้แก่กลุ่มธุรกิจ SMEs และให้บริการปล่อยเงินกู้หลายรูปแบบผ่านแอปพลิเคชัน Ant Financial เพื่อให้ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ Alibaba เคยเปิดตัวโครงการช่วยเหลือ SMEs กว่า 40 ล้านคน ให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2551 มาแล้ว

iStock-590252724.jpg

ส่วน JD.com ก็มีแผนช่วยฟื้นฟูสภาพคล่องให้กับ SMEs เช่นกัน โดยสนับสนุนวงเงินกู้สูงสุดถึง 100,000 หยวน (ประมาณ 460,000 บาท) และให้สิทธิพิเศษกับร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์ม JD.com เช่น การจัดหาผู้ผลิตที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลงให้แก่ร้านค้าต่าง ๆ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ จัดทำ และสต็อกสินค้า รวมถึงการบริการอำนวยความสะดวกผ่านระบบดิจิทัลที่ครบวงจร (e-Commerce Ecosystem) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ให้ร้านค้าปลีกสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ถึงแม้ว่าทั้งภาคเอกชนและภาครัฐจะพยายามหาแนวทางและออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 แต่โดยรวมแล้ว นักวิเคราะห์ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในประเทศจีนจะฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นจริง ๆ ในปี 2564 ทั้งนี้ต้องรอติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลก รวมทั้งยังต้องติดตามการพัฒนาวัคซีนที่จะมายับยั้งการระบาดของโรคต่อไป

อ้างอิง

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)