e-Commerce
- 22 ต.ค. 63
-
3710
-
ชี้ช่องขาย: ช่องทางซื้อของออนไลน์สุดฮิต กับโอกาสที่ผู้ขายห้ามพลาด!
e-Commerce ในประเทศไทย มาแรงและเติบโตขึ้นทุกปี เห็นได้ชัดเจนจากการสำรวจของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่พบว่า มีมูลค่าสูงขึ้นทุกปี และยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่คนออกไปไหนไม่ได้ โดย e-Commerce ได้เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ New Normal และสร้างอาชีพใหม่หลายอย่างบนโลกออนไลน์ในวิกฤตนี้ จึงคาดว่ามูลค่า e-Commerce ในปี 2563 นี้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด
จากผลสำรวจล่าสุด เรามาดูกันว่าจะขายช่องทางไหนดี
ปัจจุบันโลกเราได้เข้าสู่ยุคดิจิทัลที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้เราอย่างรอบด้าน ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนไปจากอดีตในยุคแอนะล็อกอย่างสิ้นเชิง หนึ่งในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด แล้วกลายเป็นหนึ่งในความเคยชินสำหรับชีวิตประจำวันของเราทุกคนไปแล้ว คือ การซื้อขายออนไลน์
ความนิยมซื้อขายออนไลน์ของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จากการผลสำรวจของ ETDA ที่ทำการสำรวจอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 จากมูลค่า 2.03 ล้านล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 5 ปี สามาถเติบโตจนมีมูลค่าสูงถึง 3.76 ล้านล้านบาท ใน พ.ศ. 2561 และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าทะลุ 4 ล้านล้านบาทเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2562 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงโอกาสเติบโตของธุรกิจต่าง ๆ ที่จะก้าวเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ในอนาคต
ช่องทางซื้อของออนไลน์สุดฮิต กับโอกาสที่ผู้ขายห้ามพลาด
เมื่อความนิยมเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือทางเลือกที่หลากหลาย ปัจจุบันช่องทางการซื้อขายออนไลน์มีแพลตฟอร์มให้บริการมากมาย ทั้งในรูปแบบ e-Marketplace, Social Commerce, Website และอื่น ๆ ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มจะมีรายละเอียดการใช้งานและกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป โดยจาก รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2562 พบว่า ช่องทางซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ยอดนิยมของผู้ซื้อคนไทย 6 อันดับแรก ได้แก่ 1. Shopee (75.6%) 2. Lazada (65.5%) 3. Facebook Fanpage (47.5%) 4. Line (38.9) 5. Instagram (21.8%) 6. Twitter (5.7%) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยนิยมใช้ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น
รู้จักช่องทางยอดนิยมคนซื้อ
อันดับ 1 Shopee แพลตฟอร์มยอดนิยมของผู้ซื้อคนไทย ที่เปิดตัวในประเทศไทยครั้งแรกใน พ.ศ. 2558 ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อเพราะเป็นแพลตฟอร์มที่มีบริการแอปพลิเคชันการใช้งานที่สะดวก ง่ายดาย มีการจัดโปรโมชันของร้านค้า เช่น Flash Sale ลดราคาสินค้าตามช่วงเวลาที่กำหนด การจัดมหกรรมการลดราคาสินค้า เช่น 11.11 หรือ 12.12 เพื่อดึงดูดลูกค้าอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีฟังก์ชันเปรียบทียบราคา และเกมให้ผู้ใช้งานสามารถทำการเก็บคูปองส่วนลดต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อ ในส่วนของฟังก์ชันเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ Shopee มีฟังก์ชันการรีวิวร้านค้าจากผู้ซื้อ การให้คะแนนสินค้าและบริการ นโยบายการคืนสินค้า ในกรณีสินค้าชำรุดมีปัญหา หรือไม่ได้รับสินค้า ทำให้ผู้ซื้อเลือกใช้งานแพลตฟอร์มนี้เป็นจำนวนมาก
อันดับ 2 Lazada แพลตฟอร์มยอดนิยมในเครือ Alibaba ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีน เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2557 โดยได้รับความนิยมจากผู้ซื้อเพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ซื้อคิดว่าเป็นแหล่งรวบรวมสินค้ามากมาย มีโปรโมชันของร้านค้าและการจัดมหกรรมลดราคาสินค้า เช่น 11.11 หรือ 12.12 เพื่อดึงดูดลูกค้าอยู่เสมอ รวมทั้งมีบริการรวบรวมดีลสินค้าราคาถูก จากร้านออนไลน์ต่างประเทศ และมีบริการขนส่งที่หลากหลาย
อันดับ 3 Facebook Fanpage โซเชียลมีเดียยอดนิยมของคนไทย ที่มีจำนวนผู้ใช้งานคนไทยสูงถึง 50 ล้านบัญชี นับเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กสูงเป็น Top10 ของโลก เหตุผลที่คนไทยนิยมซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางนี้ คือ เป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่แทบตลอดทั้งวัน มีเพจสินค้าแบบเฉพาะเจาะจงให้ผู้ซื้อเลือกติดตามได้หลากหลาย และมีฟีเจอร์อำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อและผู้ขายอย่างรอบด้าน
อันดับ 4 Line ช่องทางติดต่อสื่อสารออนไลน์อันดับ 1 ที่คนไทยเลือกใช้ มีผู้ใช้งานคนไทยสูงถึง 45 ล้านบัญชี นอกจากนี้ไลน์ยังมีฟีเจอร์ Line Official Account (LineOA) ที่อำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถทำการซื้อขายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้าและสื่อสารกับลูกค้าผ่านการส่งข้อความแบบ real time ทำให้ได้ข้อมูลแบบอัปเดต และล่าสุดไลน์มีบริการ Line Shop สำหรับร้านค้าให้สามารถเปิดหน้าร้านของตัวเองได้บนแพลตฟอร์มโดยไม่ต้องลิงก์ไปหาแพลตฟอร์มอื่นอย่างเช่นที่ผ่านมา และมีบริการช่องทางชำระเงินผ่าน Line Pay ที่มีการตรวจสอบยอดและรายการชำระสินค้าให้แบบทันท่วงที
อันดับ 5 Instagram โซเชียลมีเดียที่เป็นแพลตฟอร์มแบ่งปันเรื่องราวและนำเสนอไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบัญชีผ่านรูปภาพ และการติดแฮชแท็กคำ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั่วโลก โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้งาน Instagram มากติด Top20 ของโลก มีบัญชีผู้ใช้งานสูงถึง 14 ล้านบัญชี เป็นหนึ่งในช่องทางที่มีการซื้อขายสินค้ายอดนิยมทั่วโลก ทำให้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา Instagram มีการพัฒนาฟีเจอร์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อขาย โดยปรับเปลี่ยนระบบบัญชีผู้ใช้งานแบ่งเป็นหมวดหมู่บัญชีผู้ใช้งานทั่วไปและบัญชีสำหรับร้านค้าแยกจากกัน เพื่อให้ซื้อขายสินค้าได้ง่าย ซึ่งบัญชีสำหรับร้านค้านั้นมีบริการเชื่อมต่อร้านค้าใน Instagram กับ Facebook Page ให้สามารถเพิ่มสินค้ารวมถึงโฆษณาร้านค้าแบบควบคู่ 2 แพลตฟอร์มในเวลาเดียวกันได้อีกด้วย โดยสินค้าที่นิยมในขายใน Instagram ส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ แฟชั่น อาหาร
อันดับ 6 Twitter แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้คนไทยจำนวนมากถึง 7.15 ล้านบัญชี อยู่ใน Top15 ของโลก โดยกลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าผู้ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ การซื้อ-ขายสินค้าผ่านทวิตเตอร์ส่วนใหญ่เป็นการขายสินค้าต่าง ๆ ผ่านการติด แฮชแท็ก (#) ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีความชื่นชอบศิลปินเกาหลีและวงการ K-pop รวมทั้งสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์และแฟชั่น แต่ทั้งนี้แพลตฟอร์มเองยังไม่ได้มีการพัฒนาฟีเจอร์เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขายซื้อขายอย่างเป็นทางการ ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายควรพิจารณาความน่าเชื่อถือของแต่ละฝ่ายให้รอบคอบเสียก่อนจะมีการทำธุรกรรมต่าง ๆ
อ้างอิง: