TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการดิจิทัลและโครงสร้าง

ตัวอย่างบริการ Documents

ตัวอย่างบริการ

 

เพื่อสนับสนุนหน่วยงานรัฐให้ขับเคลื่อนการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และให้ข้อมูลแก่ประชาชนในการปรับตัวไปตามยุค Digital Transformation ซึ่งยังต้องเป็นไปอย่างมั่นคง ปลอดภัย และน่าเชื่อถือทั้งในการให้ และรับบริการนั้น สพธอ. ได้รวบรวมบางส่วนของบริการที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดให้มีขึ้น เพื่อเผยแพร่ทั้งต่อหน่วยงานรัฐ และประชาชน ดังนี้
หมายเหตุ: สพธอ.ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับตัวอย่างบริการที่จะปรากฏต่อไปนี้ และไม่ได้เป็นการรับรองว่าบริการดังกล่าว ผ่านการตรวจรับรองจาก สพธอ.

บริการสำหรับหน่วยงานรัฐ
  1. การจดทะเบียนโดเมนเนม (Domain name) ในชื่อของหน่วยงาน หน่วยงานควรจดทะเบียนโดเมนเนมในชื่อของหน่วยงาน โดยใช้นามสกุลสำหรับหน่วยงานของรัฐ เช่น .go.th .or.th .ac.th หรือ .mi.th เพื่อที่จะได้นำโดเมนเนมดังกล่าว ไปใช้เป็นโดเมนเนมสำหรับอีเมลของหน่วยงาน
  2. การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานของประชาชน และเพิ่มความปลอดภัยด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนโดยผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ หน่วยงานรัฐที่ต้องการจัดทำระบบ/บริการออนไลน์ สามารถเลือกวิธีการเข้าสู่ระบบ/บริการของตน ด้วย Digital ID จากหน่วยงานรัฐผู้ทำหน้าที่ Identity Provider (IdP) ได้
  3. การจัดหาบัญชีอีเมลในชื่อหน่วยงาน (Email address) หน่วยงานจะต้องจัดหาบัญชีอีเมลในชื่อหน่วยงาน อย่างน้อยหนึ่งบัญชี เพื่อใช้เป็นบัญชีอีเมลกลางในการรับส่งหนังสือของหน่วยงาน
  4. การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของโดเมนอีเมล (Email domain) เพื่อป้องกันการแอบอ้างใช้โดเมนอีเมลของหน่วยงาน หน่วยงานควรตั้งค่าเครื่องแม่ข่ายอีเมลให้รองรับ SPF (Sender Policy Framework) หรือ DKIM (Domain key identified Mail) ซึ่งหน่วยงานสามารถตรวจสอบการตั้งค่าโดเมนอีเมลตามขั้นตอนดังนี้
    4.1) ส่งอีเมล (ไม่จำเป็นต้องมีข้อความ หรือชื่อเรื่อง) จากอีเมลแอดเดรสของหน่วยงาน ไปที่ [email protected]
    4.2) ตรวจสอบอีเมล ที่ได้รับกลับจาก [email protected] ต้องมีข้อความว่า "สรุปผลการตรวจสอบ: Domain <ชื่อโดเมนอีเมล>  มีความน่าเชื่อถือ"
    แหล่งข้อมูลในการตั้งค่า SPF-DKIM ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการป้องกับสแปมด้วย SPF, DKIM และ DMARC
    คลิปอธิบายการทำงานของ SPF, DKIM และ DMARC แบบกระชับ
  5. บริการคลาวด์ที่มีการให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเสมือนที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยสูง จะช่วยลดภาระการจัดการเครื่องคอมพิวเตอร์ของหน่วยงาน ซึ่งในส่วนของภาครัฐ หน่วยงานสามารถติดต่อเพื่อแจ้งความประสงค์ขอใช้บริการ ในลักษณะบริการเครื่องคอมพิวเตอร์เสมือน (Virtual Machine หรือ VM) ที่เป็น Private Cloud สำหรับหน่วยงานโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดการรวมศูนย์การให้บริการได้
  6. บริการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ เพื่อรองรับการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ออก หน่วยงานสามารถติดต่อเพื่อขอคำแนะนำ หรือความช่วยเหลือในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ได้กับ ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (Government Data Exchange Center : GDX) ซึ่งเป็นระบบสำหรับเรียกดูข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ผ่าน API ซึ่งยืดหยุ่นต่อการนำข้อมูลไปใช้งานในรูปแบบที่ต้องการ
  7. การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารที่ได้มีการรับรองโดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งรูปแบบการลงลายมือชื่อดิจิทัล และการประทับเวลาอิเล็กทรอนิกส์ หน่วยงานสามารถตรวจสอบได้โดยเปิดไฟล์ผ่านโปรแกรมประยุกต์ เช่น โปรแกรม Adobe Acrobat Reader หรือนำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบ PDF ตรวจสอบผ่านระบบตรวจสอบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งระบบนี้ สามารถใช้งานได้ใน 2 รูปแบบคือ เว็บไซต์ หรือติดตั้งเป็นแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ โดยค้นหาใน App Store/Google Play ด้วยคำว่า “ETDA Validation”
  8. การตรวจสอบการชำระอากรแสตมป์ สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Stamp Duty) ในกรณีที่เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ประชาชนนำมายื่นนั้นต้องติดอากรแสตมป์ และประชาชนได้ชำระอากรแสตมป์ โดยแจ้งรหัสรับรองการเสียอากรแสตมป์มาแล้วนั้น หน่วยงานสามารถนำรหัสดังกล่าวเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
  9. การจัดหาใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ หน่วยงานสามารถใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้สมาชิก Adobe Approved Trust List (AATL) เพื่อลงลายมือชื่อดิจิทัล เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่หน่วยงาน/เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเป็นผู้ออก โดยเมื่อมีการนำเอกสารนี้ ไปส่งให้กับหน่วยงานอื่น เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับ จะไม่ต้องตรวจสอบกับหน่วยงานผู้ออกเอกสารอีก
  10. บริการประทับเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Timestamping) หน่วยงานอาจพิจารณาใช้บริการประทับเวลาอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรับรองการมีอยู่ของเอกสาร ณ เวลานั้น ๆ ซึ่งการใช้การประทับเวลาอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้รู้ได้ว่าเอกสารนั้นถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลังจากประทับเวลาหรือไม่
  11. การเผยแพร่ข้อมูลใบอนุญาต ในการจัดทำฐานข้อมูลใบอนุญาต ที่กฎหมายกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย หน่วยงานสามารถเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน หรือช่องทางอื่น ๆ ที่ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก หรือลงทะเบียนเพื่อบันทึกไฟล์ข้อมูลฯ ดังกล่าว ไว้ในระบบของศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ
 
ข้อมูลการติตต่อ เพื่อขอรับบริการสำหรับหน่วยงานรัฐ
บริการ โดย โทรศัพท์ อีเมล เว็บไซต์
จดทะเบียนโดเมนเนมในชื่อของหน่วยงาน บริษัท ที.เอช.นิค จำกัด 0-2105-4007 [email protected] https://thdomain.thnic.co.th/register
พิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (ThaID) - - https://www.bora.dopa.go.th/activity-news/35807/
  สพร. (ทางรัฐ) 0-2612-6060 [email protected] -
จัดหาบัญชีอีเมลในชื่อหน่วยงาน สพร. 0-2612-6060 [email protected] -
  ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น -- สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เช่น อบจ. อบต. เทศบาล) 0-2241-9000 ต่อ 1112 หรือ 1116 หรือ 1105 - http://www.dla.go.th/register/register.jsp
ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของโดเมนอีเมล สพธอ. 0-2026-6933 [email protected] -
บริการคลาวด์กลางภาครัฐ สดช. 0-2024-1999 กด 0 [email protected] https://gdcc.onde.go.th/
บริการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ เพื่อรองรับการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ออก สพร. 0-2612-6060 [email protected] https://gdx.dga.or.th/
ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่ได้มีการรับรองโดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ สพธอ. 0-2026-6933 [email protected] https://validation.teda.th/
หรือค้นหา “ETDA Validation” ใน App Store/Google Play
ตรวจสอบการชำระอากรแสตมป์ สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากร 1161 - https://efiling.rd.go.th/rd-stamp-os9-web/#/status
บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท ไทยดิจิทัล ไอดี จำกัด 0-2029-0290 กด 4 [email protected] https://www.thaidigitalid.com/certificate/
  บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) 0-2257-7127 กด 5 [email protected] https://ca.inet.co.th/inetca/certDetail.html
บริการประทับเวลาอิเล็กทรอนิกส์
*ภายใต้โครงการ ETDA Digital Service Sandbox
บริษัท ไทยแอดวานซ์ อินโนเวชั่น จำกัด 084-035-4254 [email protected] https://www.exkasan.com/
  บริษัท วัน ออเทน จำกัด 0-2257-7111 [email protected] https://tsa.one.th/tsa_web
  บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 0-2831-3838 [email protected] https://www.promptpost.com/
เผยแพร่ข้อมูลใบอนุญาต สพร. 0-2612-6060 [email protected] https://data.go.th/pages/digital-id-e-mail
บริการสำหรับภาคประชาชน
  1. การใช้ Digital ID ประชาชนสามารถดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชัน Digital ID ของหน่วยงานรัฐใน โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเมื่อทำการพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัลสำเร็จ จะสามารถใช้แอปพลิเคชันนั้น ในการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้ระบบ/บริการออนไลน์ต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐที่เปิดรับ Digital ID ได้
    ThaID ของ กรมการปกครอง
    ทางรัฐ ของ สพร.
  2. การชำระอากรแสตมป์ สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Stamp Duty)
    กรณีที่ประชาชนต้องยื่นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่หน่วยงานรัฐ โดยเอกสารที่ยื่นนั้นต้องติดอากรแสตมป์ด้วย ประชาชนสามารถชำระอากรแสตมป์ได้โดยเข้าไปที่หน้า https://www.rd.go.th/ และเลือกเมนู “ชำระอากรแสตมป์” เมื่อจบขั้นตอน จนกรมสรรพากรได้ออกใบเสร็จรับเงินและรหัสรับรองการเสียอากรแสตมป์ให้แล้ว ประชาชนสามารถนำรหัสรับรองการเสียอากรแสตมป์นั้นไปใช้อ้างอิง โดยแจ้งต่อหน่วยงานผู้รับเอกสารให้ตรวจสอบได้
    คลิปอธิบาย eStamp Duty ระบบการรับชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์
    ระบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ อ.ส.9
  3. การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารที่ได้มีการรับรองโดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งรูปแบบการลงลายมือชื่อดิจิทัล และการประทับเวลาอิเล็กทรอนิกส์ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้โดย
    3.1) เปิดไฟล์ผ่านโปรแกรมประยุกต์ เช่น โปรแกรม Adobe Acrobat Reader หรือ
    3.2) นำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบ PDF ตรวจสอบผ่านระบบตรวจสอบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งระบบนี้ สามารถใช้งานได้ใน 2 รูปแบบคือ เว็บไซต์ https://validation.teda.th/ หรือติดตั้งเป็นแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ โดยค้นหาใน App Store/Google Play ด้วยคำว่า “ETDA Validation”
    คำอธิบายวิธีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (ผ่าน PDF Reader / Web Validation)