Digital Law
- 03 ก.ย. 63
-
13061
-
พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์ ตอนที่ 2
พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ นับเป็นกฎหมายดิจิทัลฉบับแรกของประเทศไทย ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.อื่น ๆ ที่เข้ามาเสริมตามมา แล้วกฎหมายฉบับนี้มีขอบเขตและแนวทางการใช้อย่างไรบ้าง
นิยามสำคัญที่บอกว่า “ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” คืออะไร
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ได้ให้ความหมายของคำสำคัญ คือ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่า
- “ธุรกรรม” หมายถึง การกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ หรือในการดำเนินงานของรัฐตามที่กำหนดในกฎหมายนี้
- “อิเล็กทรอนิกส์” หมายถึง การประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน และให้หมายความรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสง วิธีการทางแม่เหล็ก หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิธีต่าง ๆ เช่นว่านั้น
- “ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายถึง ธุรกรรมที่กระทำขึ้นโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
ขอบเขตของกฎหมาย
พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เมื่อเป็นกฎหมายกลาง จึงพร้อมเสริมให้กระบวนการตามกฎหมายอื่นที่เคยทำด้วยกระดาษ หรือลายเซ็นที่เป็นน้ำหมึก สามารถทำในแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยสามารถใช้กับ
- “ธุรกรรมทางแพ่งและพาณิชย์” เช่น การทำสัญญากู้ยืมเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ การปลดหนี้เงินกู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่ธุรกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดมิให้นำ พ.ร.บ.นี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนมาใช้บังคับ ซึ่งต่อมา ได้มี พ.ร.ฎ. กำหนดประเภทธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ที่ยกเว้นมิให้นำกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้บังคับ พ.ศ. 2549 (หมายเหตุ ไม่ใช้กับ ธุรกรรมเกี่ยวกับครอบครัว และธุรกรรมเกี่ยวกับมรดก)
- “ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ” เช่น คำขอ การอนุญาต การจดทะเบียน คำสั่งทางปกครอง การชำระเงิน การประกาศหรือการดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายกับหน่วยงานของรัฐหรือโดยหน่วยงานของรัฐ ถ้าได้กระทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดย พ.ร.ฎ. ให้นำ พ.ร.บ.มาใช้บังคับและให้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น การยื่นภาษีทางออนไลน์ การยื่นขออนุญาตนำเข้าส่งออกน้ำตาลทราย
แนวทางการใช้กฎหมาย
การใช้กฎหมายนี้เพื่อเสริมกฎหมายอื่นให้ทำแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยไม่แทนที่หรือมีผลไปยกเว้นหรือเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ตามกฎหมายเดิม ตัวอย่างเช่น การปรับใช้กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 เช่น สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ราคาตั้งแต่ 20,000 บาท ที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมี หลักฐานเป็นหนังสือ และ ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถนำ พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ มาตรา 8 เรื่องเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรา 9 เรื่องลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ มาปรับใช้ได้กับการทำแบบของสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
โครงสร้างกฎหมาย
พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ ประกอบด้วย 7 หมวด คือ
- หมวด 1 ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รองรับการทำธุรกรรมในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องต่าง ๆ
- หมวด 2 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ รองรับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้
- หมวด 3 ธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รองรับการกำกับดูแลธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญและมีผลกระทบวงกว้าง
- หมวด 3/1 ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รองรับให้บุคคลสามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลได้ โดยมีกลไกการควบคุมดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือและมั่นคงปลอดภัย
- หมวด 4 ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ รองรับการให้บริการภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
- หมวด 5 คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) รองรับการมีคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ
- หมวด 6 บทกำหนดโทษ
ทั้งนี้ บทกำหนดโทษ กำหนดไว้สำหรับหมวดที่ 3 และหมวดที่ 3/1 ในส่วนธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเท่านั้น
ดาวน์โหลด
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
อ่านต่อ
พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์ ตอนที่ 1
อ่านต่อ
พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์ ตอนที่ 2
อ่านต่อ
พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์ ตอนที่ 3
อ่านต่อ
พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์ ตอนที่ 4
หมายเหตุ คำอธิบายพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ตามบทความนี้ จัดทำขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชน หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ในการเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายเท่านั้น การจะปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ต้องศึกษาทำความเข้าใจ ตรวจสอบ และยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ
พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ นับเป็นกฎหมายดิจิทัลฉบับแรกของประเทศไทย