TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

ETDA เจาะกระแส “เศรษฐกิจสีชมพู” โอกาสเพิ่ม GDP ไทย ผ่านมุมมองกูรู และ LGBTQIAN+

Digital Trend Documents
  • 19 ก.ย. 67
  • 57

ETDA เจาะกระแส “เศรษฐกิจสีชมพู” โอกาสเพิ่ม GDP ไทย ผ่านมุมมองกูรู และ LGBTQIAN+

ในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วยความหลากหลายและการยอมรับในความแตกต่าง การแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริงได้กลายเป็นเรื่องปกติที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นในทั่วทุกมุมโลก ไม่ต่างจากประเทศไทย ที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2567 วุฒิสภามีมติรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือที่รู้จักกันในนาม ‘พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม’ โดยถือเป็น ประเทศแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเกิดขึ้นของกฎหมายฉบับนี้ ไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นของการรับรองทางกฎหมายของความสัมพันธ์ฉันคู่รัก ที่ไม่จำกัดแค่เพศหญิงกับชายเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญานแห่งโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจภาพรวม หรือ GDP ของประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะกลุ่ม LGBTQIAN+ ที่คาดการณ์ว่ามีอยู่ราวเกือบ 4 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มที่มีรายได้ มีกำลังซื้อสูง มีศักยภาพในการใช้จ่าย ที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในหลายๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจรับจัดงานแต่ง ธุรกิจประกันภัย รวมถึงประกันชีวิต เป็นต้น ซึ่งเราเรียกปรากฏการณ์เหล่านี้ว่า เศรษฐกิจสีชมพู หรือ Pink Economy

เมื่อเร็วๆ นี้ ETDA หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในฐานะหน่วยงานที่มีอีกบทบาทหนึ่งในการมุ่งส่งเสริมให้ประเทศมี Ecosystem ที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ให้คนไทยชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล” ก็ไม่ตกขบวนชวน คุณอาร์ตตี้ – ปภังกร เขมจิรโชติ ตัวแทนจากทีมอินฟลูสุดฮอตแห่งยุคอย่างแก๊ง “Powerpuffgay” คุณหยาดพิรุณ ปู่หลุ่น อินฟลูสายฮาและผู้เชี่ยวชาญด้าน Pink Economy คุณธนะชัย กุลสมบูรณ์สินธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Canvas Venture International มาร่วมพูดคุยถึงบทบาทของ LGBTQIAN+ ในการขับเคลื่อน Pink Economy โอกาสครั้งสำคัญในการเพิ่มมูลค่า GDP ประเทศ ในรายการ ETDA Live: ไลฟ์กำลังดี EP.3 LGBTQIAN+ เทรนด์ตัวแม่ จับกระแสเศรษฐกิจสีชมพู
ไลฟกำลงด-3-100-(3)_0.jpg
Pink Economy จากสัญลักษณ์แห่งการแบ่งแยก สู่พลังแห่งเศรษฐกิจ
หลายคนอาจคุ้นหูกับคำว่า Pink Economy เพราะระยะหลังมานี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ที่มาของคำว่า “Pink” ในบริบทของ LGBTQIAN+ มีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะ Pink ที่ว่านี้ มาจากคำว่า Pink Triangle หรือ “สามเหลี่ยมสีชมพู” ที่เป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ทางเพศของทหารที่เป็นชายรักร่วมเพศในยุคนั้นถูกบังคับให้ติดที่หน้าอก เพื่อเป็นเครื่องหมายแยกแยะและมักถูกกลั่นแกล้ง ข่มเหง แต่หลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง Pink ที่ว่าก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการปลดแอกและเป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ส่วนคำว่า Pink Economy นั้น ทางสหรัฐอเมริกา ได้ใช้เป็นประเทศแรกๆ ช่วงประมาณกลางทศวรรษ 1960 เมื่อธุรกิจต่างๆ เริ่มสังเกตเห็นว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยหลากหลายมากกว่ากลุ่มคนทั่วไปและครอบครัวที่มีลูก จึงได้มีการทำการตลาดอย่างจริงจัง เพื่อการเข้าถึงคนกลุ่มนี้มากขึ้น จากนั้น พลังในการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มนี้ ก็ได้รับความสนใจและถูกจับตามากขึ้นเรื่อยๆ และได้รับการยอมรับว่าเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ากลุ่ม LGBTQIAN+ ใน Pink Economy ไม่ได้มีแค่ ผู้บริโภคเท่านั้น แต่แบ่งได้เป็น 6 กลุ่มหลักๆ ได้แก่
1. นักลงทุน (Investment)
2. ผู้บริโภค (Consumer)
3. ผู้ที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ต่างๆ (Tech&knowledge)
4. ภาครัฐ (Government)
5. การจ้างงานและทรัพยากรบุคคล (Employment &Human Resources)
6. ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ซึ่งล้วนมีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งสิ้น
ไลฟกำลงด-3-100-(1)_0.jpg
ทำไม LGBTQIAN+ ขึ้นชื่อสายเปย์ตัวแม่!!
ในวงสนทนาได้พูดคุยถึงสาเหตุที่กลุ่ม LGBTQIAN+ มักมีกำลังซื้อที่สูงกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกัน น่าจะมาจากปัจจัย ดังนี้

  • Worry Free ตามวิถี DINK ที่ย่อมาจากคำว่า “Double income, no kids” เนื่องจากไม่มีลูก ไม่มีภาระ มีเงินเหลือใช้และมีอิสระในการใช้จ่ายและยิ่งมีคู่ก็จะยิ่งมีกำลังซื้อสูงแบบคูณสอง
  • ชอบเฮฮากับแก๊งเพื่อนสนิท ใช้ชีวิตแบบจอยๆ ยินดีใช้จ่ายเงินเพื่อสร้างความสุขให้กับตนเอง
  • รสนิยมดี หรูหรา ระดับพรีเมียม ชอบความเนี้ยบ เป๊ะ นิยมของแบรนด์เนมและมักเลือกใช้สินค้าและบริการที่ราคาสูงกว่ากลุ่มทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ อาหารต่างๆ รวมทั้งการท่องเที่ยวก็เน้นกินหรู อยู่สบาย ช้อปไม่ยั้ง
  • กระเป๋าหนัก หาเงินเก่ง รายได้สูง หลายๆ ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่ากลุ่ม LGBTQIAN+ มักจะ มีรายได้สูงกว่าคนกลุ่มอื่น ในวัยเดียวกัน
ในวงสนทนาได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า LGBTQIAN+ จำเป็นต้องหาเงินเก่ง เพราะในอดีตกลุ่มนี้มักถูกเลือกปฏิบัติ ถูกบุลลี่ และถูกมองว่า "ผิดปกติ" จึงต้องต่อสู้ดิ้นรนและต้องเก่งเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ทำให้พวกเขาเติบโตมาพร้อมกับสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดและความสามารถรอบด้าน นอกจากนี้ ด้วยไลฟ์สไตล์ที่สนุกสนาน ไม่มีข้อจำกัด จึงทำให้มีความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบได้อย่างเต็มที่ สามารถทำงานได้หลากหลายสาขาอาชีพ ไม่เกี่ยงงาน และเมื่อรวมกับบุคลิกที่โดดเด่นและความสามารถรอบด้าน จึงมีช่องทางหารายได้หลากหลาย โดยผู้เชี่ยวชาญเสริมว่า LGBTQIAN+ มักมีพรสวรรค์ 3 ด้านที่เรียกว่า 3T ได้แก่ T – Tolerant คือ ความอดทนอดกลั้นเพราะว่าโดนกดขี่ข่มเหงมาตลอด T – Technology เข้าถึงเทคโนโลยีและสามารถปรับตัวได้ในโลกสมัยใหม่ และ T สุดท้าย คือ T-Talent คือ ความสามารถหรือทักษะพิเศษต่างๆ
ไลฟกำลงด-3-100-(2).jpg
“สมรสเท่าเทียม” แม่เหล็กใหญ่ดันไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจสีชมพู
ปัจจุบันชาว LGBTQIAN+ มีอยู่ประมาณ 5-10% ของประชากรโลก และมีกำลังซื้ออยู่ที่ประมาณ 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนประเทศไทยเองก็มี กลุ่ม LGBTQIAN+ อยู่มากถึง 3.7 ล้านคน และมีมูลค่ากำลังซื้อรวมอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท อีกทั้งยังติด อันดับ 2 ของประเทศที่เป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQIAN+ มากที่สุดในเอเชีย และยังเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาว LGBTQIAN+ ทั่วโลก สะท้อนภาพลักษณ์การเป็นประเทศที่เปิดกว้างและเป็นมิตรกับ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งและจุดขายที่นำไปต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐ ก็มองเห็นโอกาสนี้และมีความพยายามที่จะผลักดันสิทธิเสรีภาพและจัดกิจกรรมที่แสดงออกถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้สำเร็จเป็น ชาติแรกในอาเซียน ซึ่งหากกฎหมายประกาศใช้อย่างเป็นทางการคาดว่าจะมีชาว LGBTQIAN+ จากทั่วโลก เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือพำนักระยะยาวเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งเสริมให้ไทยมีโอกาส ที่จะกลายเป็น Hub ของ LGBTQIAN+ Destination ในระดับสากล
ไลฟกำลงด-3-100-(4).jpg
เปิดชัด!! สิ่งที่ไทยจะได้จาก Pink Economy
ผู้เชี่ยวชาญยกตัวอย่างโอกาสทางเศรษฐกิจที่ไทยจะได้รับจาก Pink Econymy มีหลายด้านไม่ว่าจะเป็น
1. ด้านการท่องเที่ยวและเทศกาล เพราะไทยเองก็มีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้วและยังติดอันดับประเทศที่ชาวต่างชาติอยากมาเยือนมากที่สุด เพราะค่าใช้จ่ายไม่สูง อาหารอร่อย ผู้คนเป็นมิตร อีกทั้งยังมีที่พักโรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว สถานบริการ หรือกิจกรรมที่รองรับกลุ่ม LGBTQIAN+ โดยเฉพาะ
2. ด้านแฟชั่น เสื้อผ้า และความสวยความงาม เพราะกลุ่ม LGBTQIAN+ รักสวยรักงามและชอบดูแลตัวเอง และมีโอกาสต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจวิกผม เป็นต้น 
3. ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยเฉพาะการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งฝีมือด้านการแพทย์ของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในขณะที่ราคาไม่สูงมาก
4. ด้านความบันเทิง ปัจจุบันประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตซีรีส์วายระดับแถวหน้าของโลก รวมถึงซีรีส์ยูริ ที่กำลังเริ่มเป็นที่นิยม ตลอดจนธุรกิจด้านความบันเทิงต่างๆ รวมถึง
5. ธุรกิจใหม่ๆ หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น Sextech (Sexual Technology)  ที่ส่งเสริมการเพิ่มความสุขทางเพศที่จะกลายเป็นเรื่องที่พูดถึงกันได้อย่างกว้างขวางและเป็นไลฟ์สไตล์ของมนุษย์ทุกคน และเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศใช้อย่างเป็นทางการ   จะช่วยให้เกิดการต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับการแต่งงาน  การให้บริการทางการเงิน สินเชื่อ หรือประกันภัยสำหรับคู่รัก สัตว์เลี้ยง รวมถึง อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านจัดสรร ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์คู่รัก LGBTQIAN+ หรือบ้านสำหรับกลุ่ม LGBTQIAN+ ต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยว พำนักในไทย เป็นต้น

แม้เราจะเห็นโอกาส ทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเติบโตจากกระแส Pink Economy แต่ในมุมของผู้เชี่ยวชาญในวงสนทนานี้ ต่างก็แสดงความเห็นว่า แค่สมรสเท่าเทียมอาจไม่พอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องผลักดันกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วย และไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้น ทุกภาคส่วนเอง ยังต้องร่วมมือกันส่งเสริมและผลักดัน Pink Economy อย่างจริงจัง เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ และสร้างระบบนิเวศรองรับกับความต้องการของกลุ่ม LGBTQIAN+ รวมถึงการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่คนกลุ่มนี้ เพราะ Pink Economy ไม่เพียงแค่หมายถึงตลาดสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้อง แต่การส่งเสริมไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของชุมชน LGBTQIAN+ ยังสะท้อนถึงความหลากหลาย ความเท่าเทียมในการบริโภคและการตลาด ที่จะช่วยในมุมภาพลักษณ์ของประเทศ และยังเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตต่อไป

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)