TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

 สื่อดั้งเดิมในไทย ไม่ปรับตัว หรือ ปรับตัวไม่ไหว

Digital Service Documents
  • 13 ต.ค. 64
  • 1532

สื่อดั้งเดิมในไทย ไม่ปรับตัว หรือ ปรับตัวไม่ไหว

หลังจากที่ได้เห็นตัวเลขเม็ดเงินการลงทุนซื้อโฆษณาบนสื่อในปัจจุบัน ที่เทไปหาสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คงพอจะเห็นภาพชัดแล้วว่า ตอนนี้ความนิยมและการลงทุนในสื่อดั้งเดิมกำลังถดถอย แพลตฟอร์มออนไลน์กลายเป็นช่องทางการสื่อสารหลักระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงเป็นช่องทางสำคัญในการทำธุรกิจ

ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ สื่อดั้งเดิมในไทยเปลี่ยนตัวเองไปขนาดไหน เรามีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงมาบอกเล่าถึงการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงมานำเสนอกัน

4platforms-transform_ig.jpg

ผันตัวไปทำธุรกิจ e-Commerce

สื่อรายใหญ่และรายดั้งเดิมของไทยที่ผันไปทำธุรกิจ e-Commerce อย่างบริษัท อาร์เอส (RS) ที่เมื่อเราได้ยินชื่อแล้วจะต้องนึกถึงธุรกิจค่ายเพลงเป็นอย่างแรก แต่ปัจจุบันอาร์เอส ได้ transform ธุรกิจของตัวเอง จาก สื่อ Entertainment สู่ธุรกิจใหม่ Entertainmerce เป็นบริษัทพาณิชย์ลุยตลาด e-Commerce เต็มตัว ในนาม RS Mall ซึ่งสินค้า 60% ที่จำหน่ายผ่านช่องทาง RS Mall ก็มาจากบริษัทไลฟ์สตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออาร์เอสเอง โดยปัจจุบันอาร์เอสมีรายได้หลักมาจากธุรกิจ Commerce คิดเป็น  63% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2563
  
เช่นเดียวกันกับในรายของ เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ที่นอกจากจะปรับลดกิจการสิ่งพิมพ์ เลิกทำ หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น และคมชัดลึก แล้วมานำเสนอข่าวทางออนไลน์แทนนั้น ก็ได้เพิ่มช่องทางมาทำธุรกิจ B2C จำหน่ายสินค้าผ่านทางดิจิทัลทีวีและออนไลน์ ในชื่อ Happy Shopping ดำเนินธุรกิจโดย บริษัท แฮปปี้ โปรดักส์ แอนด์ เซอร์วิส (HPS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 50 โดยการดำเนินธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์นี้สามารถทำรายได้ให้กับบริษัท 392 ล้านบาท คิดเป็น 31% ของรายได้ทั้งหมด ในปี 2563

ขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ 

ปัจจุบันสื่อดั้งเดิมยังขยายรูปแบบการทำธุรกิจด้วยวิธี ‘ขายคอนเทนต์’ ยกตัวอย่าง เช่น BEC หรือบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด เป็นหนึ่งสื่อดั้งเดิมเจ้าใหญ่ที่มีความพยายามปรับตัวอย่างมาก เพื่อสู้กับเงินค่าโฆษณาที่หายไป  โดยใช้วิธีขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ละครของตัวเองไปเผยแพร่ในต่างประเทศ และขายให้กับดิจิทัลแพลตฟอร์ม OTT อย่าง Netflix หรือ WeTv  อย่างไรก็ตามการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ก็ยังไม่สามารถเป็นรายได้หลักให้กับบริษัทได้ บริษัทยังคงมีรายได้หลักมาจากการขายเวลาโฆษณาที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องทุก ๆ ปี นอกจากนั้นการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ยังมีการแข่งขันในตลาดสูง และยังมีข้อจำกัดด้านประเภทคอนเทนต์และโควต้าในการซื้อลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศด้วย สุดท้ายแล้ว มีสื่อเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่สามารถดำเนินกิจกรรมเช่นนี้ได้ อีกทั้งแพลตฟอร์มต่างชาติรายใหญ่ เช่น Netflix ก็ใช้วิธีเดียวกันเพื่อ Localize Platform แต่มีอำนาจต่อรองที่สูงกว่ามาก

ลงทุนสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง 

ในการรับมือกับความนิยมและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม OTT มากขึ้น และผู้ชมรายการผ่านทางโทรทัศน์ลดลง สื่อใหญ่ในไทยจึงลงทุนสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มของตัวเอง แต่การลงทุนสร้างแพลตฟอร์มนั้นมีต้นทุนสูงหลักร้อยล้านบาท นอกจากนั้นการเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ต้องเจอกับการแข่งขันตลอดเวลา ทั้งในแง่ของการผลิตคอนเทนต์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และการตั้งราคาสมาชิกที่จะต้องทำให้ผู้บริโภคทุกระดับเข้าถึงได้ อีกทั้งต้องเจอผู้เล่นยักษ์ใหญ่หลายราย ที่ต่างก็เร่งซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศนั้น ๆ เช่นเดียวกัน และยังมีคุณภาพการทำ Original Content ที่สูงกว่า ทำให้สื่อที่คิดจะกระโดดมาแข่งขันในเส้นทางนี้อาจจะต้องคิดหนัก 

ทำคอนเทนต์แบบ ‘วิ่งตามตลาด’ 

หลายสื่อโดยเฉพาะสำนักข่าวมักใช้วิธีผลิตคอนเทนต์แบบ ‘วิ่งตามตลาด’ พยายามนำเสนอเฉพาะประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ และสร้างข่าวนั้นให้เป็นละคร เพื่อชูเรตติ้งและดึงดูดการซื้อเวลาโฆษณาเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีข่าว ‘ลุงพล’ ที่นำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงเส้นแบ่งระหว่าง ‘เรตติ้ง-จริยธรรมสื่อ’ เพราะขณะนั้นสื่อพยายามสร้างประเด็น เล่นข่าวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำคดีไป และขยันสร้างประเด็นใหม่แบบไม่เว้นวัน ลุงพลชอบกินอะไร? ลุงพลสูงเท่าไหร่? ทำให้คดีนี้ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงความเหมาะสมของสื่อในการนำเสนอข่าว ซึ่งที่จริงแล้วข่าวลุงพลเป็นเพียงภาพแทนของการแข่งขันทำคอนเทนต์ระหว่างช่องข่าวเท่านั้น เพราะการแข่งขันเพื่อดูดยอดเรตติ้้งมีอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นข่าวหวย ข่าวอาชญากรรม ข่าวทะเลาะตบตีกัน ที่เราเห็นอยู่บนหน้าจอทุก ๆ วัน 

จากกรณีดังกล่าว ต้องยอมรับว่าสื่อไทยดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ สำนักพิมพ์ หรือสื่อบันเทิง พยายามปรับตัวมาโดยตลอดเพื่อรับมือกับ ‘Digital Disruption’ ที่จะช้าหรือเร็วก็คงจะต้องเกิด  ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทั้งนี้ ยังมีตัวอย่างอื่น ๆ อีก เช่น การหันมาทำ New Media ซึ่งมีการแข่งขันสูงมาก และต้องพึ่งพิง Digital Platform มากกว่าเดิม ดังนั้น การจะให้สื่อปรับตัวเพียงลำพังอาจไม่เพียงพออีกต่อไป

_______

นี่คือหนึ่งในประเด็นสำคัญที่เราจะนำเสนอ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมสื่อและอุตสาหกรรม Digital Platform สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า)​ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขอเชิญทุกท่านร่วม Online Seminar ในหัวข้อ  “Digital Video Platform Seminar 4D เผย 4 มิติดิจิทัลวิดีโอแพลตฟอร์มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย” รวมผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสื่อ มาร่วมแบ่งปันความคิดเห็นในมิติมุมมองที่หลากหลาย และร่วมเรียนรู้สถานการณ์อุตสาหกกรรมสื่อไทยจากผลกระทบของ Digital Video Streaming Platform แบบครบ 4 มิติทั้งด้านกว้าง ยาว ลึก และครบช่วงเวลา
 
พบกันวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคมนี้ เวลา 13:00 - 17:30 น. ลงทะเบียนล่วงหน้าได้แล้วที่  https://etda-4d-vdo-seminar.tlsx.co.th/th/register  

Rating :
Avg: 4 (1 ratings)