Digital Platform Services
- 03 พ.ย. 66
-
3237
-
เปิดหมดเปลือก กฎหมายใหม่ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ใครได้ประโยชน์
ไทยเองก็กำลังก้าวสู่ ‘เมืองดิจิทัล’ จากรายงานของ เว็บไซต์ Datareportal เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ตอนนี้ไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 61.21 ล้านคนคิดเป็นจำนวน 85.3 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนประชากรทั้งหมด 71.6 ล้านคน โดย 52.25 ล้านราย ใช้งานบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งคิดเป็น 72.8 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นมีจำนวนการใช้งานประมาณ 101.2 ล้านเครื่อง ซึ่งคิดเป็น 141 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
จากตัวเลขการใช้นี้เป็นตัวชี้วัดว่าไทยนั้นคือ “เมืองแห่งดิจิทัล” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีการใช้งานในหลากหลายรูปแบบ ทั้ง e-Commerce จนไปถึงบริการออนไลน์ต่าง ๆ ยิ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมาเหมือนเป็นตัวเร่งให้คนปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น จากคนที่ไม่เคยซื้อของออนไลน์ก็หันมาใช้งานมากขึ้น ทั้งสั่งอาหาร ส่งของ เรียกรถ จนกลายเป็นเรื่องที่คุ้นชินในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ของคนไทยมากขึ้น
แน่นอนว่าที่ไหนคนอยู่เยอะก็ย่อมมีปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกงและการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล รวมความโปร่งใสของแพลตฟอร์มที่เป็นธรรมต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขายบนแพลตฟอร์ม
กฎหมายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นจะเน้น คุ้มครอง มากกว่าการเข้าไป ควบคุม โดยภาครัฐ
แต่ที่ผ่านมานั้น เวลาที่เกิดปัญหาหลายแพลตฟอร์ม มักปฏฺิเสธความรับผิดชอบ จะอ้างว่าเป็นแค่ตัวกลาง
ระหว่างผู้ขายและผู้บริโภค นั่นจึงเกิดเป็นกฎหมายใหม่ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้การทำธุรกรรมออนไลน์เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยมีหน่วยงานภาครัฐอย่าง ETDA คอยกำกับดูแล
กฎหมายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้น จะเน้นช่วยดูแลมากกว่าการเข้าไปควบคุม เพื่อการให้บริการของแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความเหมาะสมและเป็นธรรม โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องมาแจ้งกับทาง ETDA ว่าเป็นบริการอะไร ให้บริการกับผู้ใช้บริการกลุ่มใด มีผู้ใช้บริการจำนวนเท่าไหร่ เพื่อวิเคราะห์แต่ละแพลตฟอร์มว่ามีความเสี่ยงต่อผู้ใช้บริการอย่างไรบ้าง
การกำกับดูแลแพลตฟอร์มข้ามชาติ อาจจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบธุรกิจไทย
การที่รัฐเข้ามาดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลด้วยตัวเอง จะเปิดโอกาสให้ธุรกิจแพลตฟอร์มใหม่ๆ ของคนไทย สามารถเติบโตได้ ผ่านการวางกฎเกณฑ์การกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เหมาะสมกับลักษณะการดำเนินธุรกิจที่ต่างไป ทั้งยังสร้างความเป็นธรรมระหว่างธุรกิจแพลตฟอร์มกับธุรกิจดั้งเดิม
หากแพลตฟอร์มไหนของคนไทยที่มีศักยภาพสามารถเติบโตได้ ก็อาจจะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ขยายตลาดไปยังต่างชาติได้เพื่อนำเม็ดเงินกลับมายังประเทศไทย
การมาของกฎหมายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะเปิดให้แพลตฟอร์มที่เข้าข้อกำหนดต้องมาแจ้งการประกอบธุรกิจกับ ETDA ซึ่งครอบคลุมทั้งแพลตฟอร์มของคนไทย และแพลตฟอร์มข้ามชาติที่คนไทยนิยมใช้งาน อย่าง Facebook, Tiktok, LINE จนไปถึง Lazada และ Shopee นั่นหมายความว่าหน่วยงานภาครัฐจะสามารถกำกับดูแลแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
กฎหมายฉบับใหม่นี้ช่วยลดข้อจำกัดของกฎหมายเดิม อาทิ ธุรกิจโซเชียลมีเดียและคอมเมิร์ซที่ถูกตีความว่าไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายขายตรงฯ เพราะไม่ได้สร้างรายได้หลักจากการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม แต่หากมียอดรายได้ทางอื่นหรือผู้ใช้บริการถึงเกณฑ์ ก็จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายนี้ และควรต้องปฏิบัติตามหน้าที่และข้อกำหนดต่างๆ ที่จำเป็นตามกฎหมาย
แล้วถามว่าใครบ้างที่จะได้ประโยชน์จาก กฎหมายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนี้?
ฝั่งของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
ฝั่งของผู้ให้บริการเองก็จะมีความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจและปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะมีแนวทางปฏิบัติในการสอดส่องและดูแลตัวเองให้เป็นไปตามกรอบที่วางไว้อย่างชัดเจน ซึ่งบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะการให้บริการที่เหมือนกันก็จะอยู่ใต้ข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งการแข่งขันและผู้ใช้
เริ่มตั้งแต่การการดูแลผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มต้องมีมาตรการการบรรเทาความเสียหายและการชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจ หากไม่ทำตามข้อปฏิบัติเหล่านี้ก็จะถูกลงโทษ แม้ไม่มีผู้ฟ้องร้องก็ตาม
นอกจากนั้นทาง ETDA ได้เตรียมคู่มือแนวทางลงทะเบียนผู้ใช้บริการด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อแก้ปัญหาการฉ้อโกงและการเผยแพร่คอนเทนท์ที่ไม่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น พร้อมสร้างความน่าเชื่อถือให้แพลตฟอร์ม
ฝั่งผู้บริโภค
ฝั่งผู้ซื้อหรือผู้บริโภคทั่วไปก็จะได้รับบริการที่ดีขึ้น เข้าถึงและใช้งานได้ง่าย (User friendly) มีการให้ข้อมูลที่จำเป็นในการใช้บริการเพื่อให้เกิดมาตรฐาน โปร่งใส และเป็นธรรม
รวมถึงมีมาตรฐานที่ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้บริการ เช่น มีช่องทางในการติดต่อ ได้รับความคุ้มครองเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็จะรู้ได้ว่าต้องติดต่อใคร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ
อย่างเคสฉ้อโกง หลอก โกง สินค้าไม่ตรงปก สินค้าหาย หรือแกงค์คอลเซนเตอร์ จนไปถึงการรั่วไหลข้อมูลส่วนตัว หากใครตกเป็นผู้เสียหายแล้ว แพลตฟอร์มจะไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้เลย ตัวผู้เสียหายเองไม่ต้องเดินเรื่องเอง แจ้งตำรวจเองเหมือนที่ผ่านๆมา
เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็จะมีจุดศูนย์กลางในการส่งเรื่องร้องเรียน มีช่องทางและกระบวนการจัดการปัญหาที่ชัดเจนเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้บริการได้ รวมถึงสามารถติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาและเยียวยาได้
ฝั่ง ETDA เองจะมีช่องทางดูแลคู่ขนานกันไป ผ่านช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนกลาง 1212ETDA ที่คอยรับเรื่องและให้ความช่วยเหลือผู้ใช้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ
ในกรณีที่แพลตฟอร์มเลิกกิจการเองก็ไม่ต้องห่วงเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนปิดกิจการ รวมถึงมีมาตรการเยียวยาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เมื่อผู้ใช้เกิดความมั่นใจในการใช้แพลตฟอร์มแล้ว ก็จะช่วยให้เกิดการใช้งานบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง เพราะแพลตฟอร์มหน้าใหม่ๆ ก็อยากจะเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น
ฝั่งร้านค้า
ฝั่งร้านค้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัลก็มีความชัดเจนขึ้นในด้านการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น มีความโปร่งใสในการดำเนินงาน อย่างในตอนนี้หลายแพลตฟอร์มเองก็ใช้ Algorithm ในการจัดอันดับสินค้า รวมถึงการนำเสนอสินค้าให้กับผู้ซื้อ ก่อนหน้านี้ทางร้านค้าจะไม่สามารถรู้ถึงการทำงานของมัน ทำให้ร้านค้าต่าง ๆ เกิดความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน เพราะระบบมักจะโชว์ร้านหรือสินค้าที่ขายดีก่อนซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากร้านใหญ่ ร้านดัง ทำให้ร้านเล็ก ๆ มีโอกาสเติบโตยากมาก แต่การมาของกฎหมายนี้ร้านค้าต่าง ๆ จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมและโปร่งใสบนมาตรฐานเดียวกัน
ต่อมาคือเรื่องของปัญหาในการให้บริการ หากมีปัญหาต่างๆ ก็จะติดต่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มได้ง่ายกว่าเดิม เพราะมีการระบุช่องทางและมาตรการช่วยเหลืออย่างชัดเจน
ต้องบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ทำให้แพลตฟอร์มดิจิทัลแข็งแกร่งขึ้น เมื่อผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ ก็จะสามารถช่วยตัดสินใจเพื่อใช้บริการได้บ่อยขึ้น ซึ่งจะทำให้ร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ฝั่งของ Rider
ไรเดอร์ คือ อีกหนึ่งอาชีพที่เติบโตอย่างมากจากสถานการณ์โควิด ทำให้คนหันมาใช้บริการมากขึ้น ทั้งการเรียกรถ ส่งคน ส่งของ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ สิทธิสวัสดิการและการคุ้มครองการทำงานที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับการทำงานจริง หลายครั้งไรเดอร์จะถูกปรับเปลี่ยนการจ่ายค่าตอบแทน ทั้งการปรับลดค่ารอบ การปรับจัดระบบจัดสรรงาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขต่าง ๆ โดยที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า
กฎหมายนี้จะมาช่วยคุ้มครองไรเดอร์ได้ ซึ่งจะได้ทราบข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการต่าง ๆ ที่มีความชัดเจนมากขึ้น การได้ทราบเหตุผลในการที่ถูกสั่งหยุดหรือระงับการใช้บริการ รวมถึงมีช่องทางการให้ความช่วยเหลือ และกระบวนการในการจัดการเรื่องร้องเรียนโดยผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
ฝั่งหน่วยงานภาครัฐ
หน่วยงานภาครัฐก็มีความชัดเจนในการกำกับดูแล มีกลไกที่ใช้ดูแลเพื่อลดความเสี่ยงในการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงมีการเชื่อมโยงข้อมูลและระบบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อน
ต่อมาคือช่วยเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจของหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับรูปแบบและการดำเนินธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีเวทีในการหารือกับ Stakeholdes เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีร่วมกัน ในกรณีที่เป็นแพลตฟอร์มข้ามชาติ เมื่อมาจดแจ้งแล้ว ก็จะมีผู้ประสานงานของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศในการติดต่อประสานงานหรือขอข้อมูลในกรณที่เกิดปัญหาในการใช้งาน
เมื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความชัดเจน เป็นธรรมและโปร่งใส ก็จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในการใช้บริการบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้เป็นการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ดังนั้น กฎหมายนี้จึงเป็นอะไรที่น่าจับตามองมาก หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 66 ที่ผ่านมา เพราะว่าผู้ใช้บริการ ผู้บริโภคอย่างเราก็จะได้รับความเป็นธรรมในการใช้งานแพลตฟอร์ม หากเกิดปัญหาขึ้นก็จะมีที่รับแจ้งปัญหาอย่างถูกต้อง สามารถติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ไม่มีการถูกเอาเปรียบจากแพลตฟอร์ม ส่วนทางแพลตฟอร์มเองก็จะได้รับความไว้วางใจจากเหล่าพ่อค้าแม่ค้า ผู้ใช้บริการมากขึ้น เพราะมีการดูแลชี้แจงอย่างโปร่งใส