Digital Service
- 04 เม.ย. 64
-
1570
-
ETDA Live Ep.4: ETDA’s Sandbox ที่ปรึกษา หรือ ผู้คุม? นัมโดซาน บอกหน่อย..ย..ย
Sandbox สำหรับคนไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป เมื่อซีรีส์ดังอย่าง 'START-UP' ที่เคยโด่งดังเป็นกระแสเมื่อหลายเดือนก่อน นำเรื่องนี้มาถ่ายทอดได้อย่างน่าสนใจ ผ่านตัวละครสำคัญ “นัมโดซาน” พระเอกของเรื่องที่ฝ่าฟันอุปสรรค พยายามนำเอาเทคโนโลยีที่บริษัทของตนคิดค้น มาทดสอบในสนาม Sandbox ก่อนนำมาใช้งานจริง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้นนั้น
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะหน่วยงาน Regulator ได้เปิดสนามทดสอบ Digital Service Sandbox มาตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา แม้รูปแบบการดำเนินการจะไม่เหมือนกันในซีรีส์ Start-Up แต่ผลในปลายทางก็ไม่ต่างกัน นั่นคือ บริการหรือนวัตกรรมที่ผ่านการทดสอบจะเป็นประโยชน์และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้งาน
ในช่วงที่หลาย ๆ บริการในกลุ่มแรกที่เข้าทดสอบใน Sandbox ของ ETDA มีความก้าวหน้าไปบ้างแล้ว และซีรีส์ Start-Up ที่ลาจอไปได้ระยะหนึ่งยังมีควันหลงเหลืออยู่ ETDA จึงเกิดไอเดียนำเรื่องนี้มาพูดคุยอีกครั้ง ในเวที ETDA Live Ep.4 กับหัวข้อ “ETDA’s Sandbox ที่ปรึกษา หรือ ผู้คุม? นัมโดซาน บอกหน่อย..ย..ย” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ชวนผู้เชี่ยวชาญด้าน Sandbox ผู้ส่งเสริมและผู้พัฒนานวัตกรรมหรือบริการดิจิทัล รวมทั้งเข้า Sandbox ของ ETDA มาร่วมแลกเปลี่ยนกัน ได้แก่
- ทิพยสุดา ถาวรามร คณะกรรมการกำกับ ETDA ผู้เชี่ยวชาญด้าน Sandbox
- ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา CEO Priceza และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai e-Commerce Association)
- วรพจน์ ธาราศิริสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (เจ้าของนวัตกรรมที่เข้าร่วม ETDA Sandbox)
มาร่วมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญจาก ETDA
- ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ที่ปรึกษา ETDA ผู้เชี่ยวชาญด้าน Innovation
- พลอย เจริญสม เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ETDA ผู้ขับเคลื่อนโครงการ ETDA’s Sandbox
คำถามสุดฮิต Sandbox คืออะไร
แม้หลายประเทศจะให้คำนิยามของคำว่า Sandbox แตกต่างกันไป แต่ในมุมมองของ
ทิพยสุดา หนึ่งในบอร์ดETDA ผู้เชี่ยวชาญด้าน Sandbox ซึ่งผ่านประสบการณ์ Regulator มาจาก
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สรุปความหมายและความสำคัญที่ฟังแล้วเข้าใจได้ง่าย ว่า
“Sandbox ในบริบทของการทำธุรกิจและการพัฒนานวัตกรรม คือ การเตรียมความพร้อมให้เจ้าของนวัตกรรม ได้มีพื้นที่หรือสนามทดลองใช้นวัตกรรมนั้น ๆ กับผู้ใช้บริการจริง ในวงจำกัด เพื่อตีกรอบการใช้งานและผลกระทบให้แคบลง ก่อนนำนวัตกรรมลงเล่นในสนามจริง Sandbox จึงคล้ายกระบะทรายที่เจ้าของนวัตกรรมและผู้ลงทุน เมื่อตกหรือล้มแล้วไม่เจ็บตัวมากนัก”
จากปัญหา ข้อกังวล สู่ ETDA’s Sandbox
จากความต้องการในการใช้บริการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยิ่งส่งผลให้เกิดบริการดิจิทัลเพื่อรองรับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และการเว้นระยะห่างทางสังคม Social Distancing อีกมากมาย และแม้
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 32 ได้รองรับในเรื่องการกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว แต่ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ อาจยังต้องการความชัดเจนในการตีความของกฎหมาย โดยมีคำถามว่า บางนวัตกรรมหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ กฎหมายที่มีอยู่ดูแลครอบคลุมหรือไม่
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ETDA ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ และกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย สอดคล้องตามมาตรฐาน และมีผลรองรับตามกฎหมาย จึงจัดทำ
โครงการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ
Digital Service Sandbox ขึ้น เพื่อให้เจ้าของนวัตกรรมหรือบริการดิจิทัล ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะภาครัฐหรือภาคเอกชน ได้มีโอกาสนำ “นวัตกรรม” หรือ “บริการ” ของตนเองเข้ามาทดสอบ ในสภาพแวดล้อมการให้บริการกับผู้ใช้งานในวงจำกัด ก่อนนำไปให้บริการจริง
พลอย ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังโครงการนี้ กล่าวว่า
“ETDA ทำ Sandbox ขึ้นมา ไม่เพียงแค่ดูว่า เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เรากำลังจะใช้งานกัน Map กับกฎหมาย มาตรฐานเดิมที่เรามีหรือไม่ แต่ยังเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับอนาคต โดยเฉพาะวันนี้ เรามี ร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างพิจารณาของสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากร่างนี้ผ่าน จะทำให้ไอดี (Identity หรือ ID) ของเรากลายเป็นดิจิทัล มีคนให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่น่าเชื่อถือมาให้บริการเรา”
สิ่งที่ ETDA ในฐานะเลขานุการของ
คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีภารกิจหนึ่งต้องเดินหน้าต่อคือ การพัฒนามาตรฐาน แนวทาง หรือ กฎเกณฑ์เพื่อเป็นแนวปฏิบัติแก่ผู้ให้บริการ ซึ่งการร่างกฎกติกา จากทฤษฎีเพียงอย่างเดียว คงมองไม่เห็นภาพว่า กติกาที่สร้างขึ้นมา เป็นภาระ หรือเป็นผู้คุมจนเกินไปหรือไม่
การมี Sandbox จึงถือเป็นเรื่องดี ที่ Regulator (หน่วยงานกำกับดูแล) และ เจ้าของนวัตกรรม จะได้เอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาทดสอบร่วมกัน
Sandbox หลัก ๆ มีอยู่ 2 ประเภทตามเป้าหมายในการทดสอบนวัตกรรม คือ
- Regulatory Sandbox เป็นการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการ ภายใต้สภาพแวดล้อมของการประกอบธุรกิจและการให้บริการที่จำกัด โดยการทดสอบอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลบริการนั้น ๆ ซึ่งหลักการในการทดสอบ เป็นได้ทั้งการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม การมีแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม และดูแลความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
- Innovation Sandbox มีขึ้นเพื่อทดสอบนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่อาจยังไม่มีกฎเกณฑ์มาควบคุม หรือมีมาตรฐานมารองรับ ภายใต้สภาพแวดล้อมของการประกอบธุรกิจและการให้บริการที่จำกัด เพื่อเน้นดูว่ามีความเสี่ยงหรือจุดอ่อนตรงไหนบ้าง ท้ายที่สุด คือการสร้างหรือพัฒนากฎเกณฑ์ มาตรฐานเข้ามาช่วยดูแล
พลอย กล่าวว่า สิ่งที่ Sandbox ของ ETDA กำลังทำ อยู่ระหว่างคำว่า Regulatory Sandbox และ Innovation Sandbox ที่ให้เจ้าของนวัตกรรม ได้นำนวัตกรรมหรือบริการดิจิทัลที่สร้างสรรค์มานี้ ได้มาทดลองใช้งานในสนามทดสอบ เพื่อดูว่ามีความเสี่ยงตรงไหน สอดคล้องกับกฎหมายที่มีหรือไม่ ขณะที่ ETDA เองก็จะร่วมเรียนรู้ว่า กฎหมาย มาตรฐาน ที่เรามี เพียงพอไหม ต้องเพิ่มเติมตรงไหน เพื่อให้เจ้าของนวัตตกรรมและผู้ใช้งานเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นมากขึ้น
ETDA’s Sandbox ที่ปรึกษา หรือ ผู้คุม
“สำหรับคนนอกหรือเจ้าของนวัตกรรมที่เข้ามาโลดแล่นในสนาม ETDA’s Sandbox มักจะบอกว่า สนามนี้ไม่ใช่ผู้คุม แต่เป็นที่ปรึกษา ที่คอยให้คำแนะนำ ร่วมสร้างนวัตกรรม แม้ท้ายที่สุดจะต้องเตรียมความพร้อมสู่การเป็น Regulatory Sandbox ก็ตาม ซึ่ง Sandbox ของ ETDA เปรียบเสมือนห้องแล็บ ที่ไม่เพียงทดสอบนวัตกรรมเท่านั้น แต่ในห้องนี้ ยังเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และร่วมเรียนรู้ จากนวัตกรรมที่เข้ามาทดสอบ เพื่อนำไปเป็นทิศทางในการกำหนดกฎเกณฑ์ กฎหมาย มาตรฐาน หรือแนวทางที่มีความสอดคล้อง ใช้ได้จริงกับนวัตกรรมเหล่านั้นด้วย” ทิพยสุดา กล่าว
มุมมองดังกล่าว สอดคล้องกับเจ้าของนวัตกรรมที่เข้ามาทดสอบใน Sandbox ของ ETDA อย่าง
วรพจน์ ที่บอกว่า ETDA’s Sandbox เป็นเหมือนที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ที่คอยให้คำแนะนำว่า นวัตกรรมที่สร้างนั้นสอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานหรือไม่ และถ้าไม่ตรงต้องทำอย่างไรให้ถูกต้อง ซึ่ง บ.เจเวนเจอร์สฯ ได้นำนวัตกรรมที่มี 2 Solutions คือ Digital ID และ e-Meeting เข้ามาสู่ Sandbox นี้ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบ
ผ่าน ETDA’s Sandbox แล้วได้อะไร
“เข้าแล้วได้อะไร” นับเป็นคำถามที่หลาย ๆ คน อาจสงสัย ในมุมมองของ
ทิพยสุดา กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งที่เทคโนโลยีเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่แพร่หลายคือ เพราะคนบางคนไม่กล้าใช้งาน กลัวความผิดพลาด
สิ่งที่จะทำให้คนกล้าคือ กฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ต้องชัดเจน ซึ่ง ETDA’s Sandbox จะทำให้ความชัดเจนนี้เกิดขึ้นได้
ส่วน
พลอย เสริมว่า กฎหมายที่มีการเขียนไว้ อาจจะค่อนข้างกว้าง ดังนั้น การมี Sandbox เข้ามาให้เกิดการทดสอบ ก็เป็นเหมือนกลไกที่จะคอยตรวจสอบดูว่า จริง ๆ แล้ว
ความกว้างของกฎหมายที่มี กับ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น มีอะไรเชื่อมโยงกันได้บ้าง แล้วนำมาปรับแก้กฎหมายหรือมาตรฐานให้ละเอียดและชัดเจนขึ้น กลายเป็นกลไกที่ทำให้คนใช้งานได้ง่ายขึ้น และกลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดขึ้น ซึ่งเกิดจากการถอดบทเรียนใน Sandbox และทำให้เจ้าของนวัตกรรมรายอื่น ๆ ที่ไม่เคยเข้าสนามทดสอบมาก่อน สามารถนำไปปรับใช้และนำไปอ้างอิงในการให้บริการได้โดยไม่ต้องมาเข้าทดสอบอีก เรียกได้ว่า มีประโยชน์ทั้งในและนอกวง Sandbox
ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการ อย่าง
ธนาวัฒน์ เผยว่า ในมุมของเอกชนหรือสตาร์ตอัป
เมื่อมีนวัตกรรมภายใต้ข้อจำกัดของเงินทุนและเวลาที่จำกัด สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากได้มากที่สุดคือ การพิสูจน์และการรับรองว่า นวัตกรรมที่สร้างมาใช้งานได้จริง สอดคล้องกับกฎหมายที่มีโดยเร็วที่สุด เพื่อให้นวัตกรรมออกมาทันและตรงตามความต้องการของตลาดและผู้ใช้งาน เพราะเทคโนโลยีไปไวและเปลี่ยนง่าย และการมี Sandbox ไม่เพียงเจ้าของนวัตกรรมเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ตัว Regulator ยังได้ประโยชน์ด้วย เพราะสามารถจำกัดความเสี่ยงในตลาดได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องดี
“สิ่งที่ ETDA กำลังทำ คล้ายบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ ที่อยากปั้นนวัตกรรม เทคโนโลยี ให้เกิดขึ้นจริง โดยการเปิดโอกาสให้ สตาร์ตอัป เข้ามานำเสนอผลงานใน Sandbox เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่กำหนดหรือมีข้อจำกัดว่า ใครจะเข้ามาบ้าง เพียงแค่กำหนด Solution ที่สนใจเท่านั้น เรียกว่า ใครมีของก็เข้ามาทดสอบของที่มีได้”
เช่นเดียวกับ
วรพจน์ ที่กล่าวว่า ETDA’s Sandbox เป็นเหมือนแพลตฟอร์มกลางที่เข้ามาดูแลในมุมเทคโนโลยี ทำให้เจ้าของนวัตกรรมอาจไม่ต้องนำนวัตกรรมไปให้หน่วยงาน Regulator หลาย ๆ หน่วยงานตรวจสอบหรือรับรอง ซ้ำๆ หลายรอบ
เพราะถ้าหากผ่านสนามทดสอบนี้ ก็เป็นเครื่องรับประกันในเบื้องต้นได้ว่า นวัตกรรมนี้ใช้งานได้จริง จะยื่นขอใบรับรองจาก Regulator หน่วยงานอื่น ๆ ก็ง่ายขึ้น เพราะเดินตามมาตรฐานที่ ETDA กำหนดไว้แล้ว ซึ่งเรื่องมาตรฐานต่าง ๆ ที่ ETDA กำหนด ค่อนข้างทำไว้ดี โดยเฉพาะมาตรฐานเกี่ยวกับแนวทางการใช้ Digital ID สำหรับประเทศไทย ที่แบ่งระดับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนไว้ชัดเจน ใครอยากทำนวัตกรรม Digital ID รองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลในระดับไหนก็ทำได้ ลดปัญหาข้อถกเถียง เพราะทำตามมาตรฐานของ ETDA นี่เป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัด
อนาคต ETDA’s Sandbox ไปต่ออย่างไร
“การเป็น Regulatory Sandbox ที่ร่วมสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีบริการดิจิทัลใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นใช้งานได้จริง ที่สำคัญคือ มั่นคงปลอดภัย” คือเป้าหมายสำคัญของ ETDA’s Sandbox ที่
ดร.ตฤณ เห็นว่าควรจะเดินต่อ ภายใต้การสร้าง Ecosystem ของสนามทดสอบที่ครอบคลุมใน 3 C ได้แก่
- Co-create ที่จะมีบทบาทในการให้คำปรึกษา ร่วมคิด ร่วมสร้าง ผลักดันแนวคิดหรือ Business Model ในรูปแบบที่เหมาะสมกับธุรกิจนั้น ๆ
- Comply เมื่อนวัตกรรมเข้าสู่สนาม Sandbox เพื่อทดลองใช้ในวงจำกัดแล้ว ก็ต้องดูว่า Comply ไปได้หรือไม่ หากเกิดความเสี่ยง จะต้องมีวิธีการหรือแนวทางในการดูแลควบคุมอย่างไร เพื่อให้มั่นคงปลอดภัยน่าเชื่อถือ และมีความสอดคล้องกับกฎหมาย หรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- Certify เมื่อนวัตกรรมออกจากสนาม Sandbox มีความพร้อมที่จะออกมาโลดแล่นในสนามจริง พร้อมใช้งานจริงแล้ว ETDA ก็จะทำหน้าที่ใน C สุดท้าย นั่นก็คือ Certify หรือการรับประกันว่านวัตกรรมหรือบริการเหล่านั้น มีความมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ ผู้ใช้เชื่อมั่นได้ในการใช้งาน สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด
ทิพยสุดา กล่าวว่า Sandbox เป็นเพียงหนึ่งกลยุทธ์ที่ ETDA หยิบมาใช้ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและให้คนกล้าทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยความเชื่อมั่นและมั่นใจว่า เทคโนโลยีที่ออกจาก Sandbox ได้มาตรฐาน และขจัดความไม่ชัดเจนของกฎหมายที่มีอยู่อย่างกว้าง ๆ ให้แคบลง และเห็นภาพการใช้งานชัดขึ้น
ทั้งนี้
นวัตกรรมแต่ละ Solution ที่อยู่ระหว่างการทดสอบใน Sandbox ของ ETDA มีทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เช่น
กรมการปกครอง ที่นำนวัตกรรมเกี่ยวกับการยืนยันตัวตน ชื่อ
D.DOPA เข้ามาทดสอบ ซึ่งนับเป็นสัญญานที่ดีที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้ ETDA จะเป็นหน่วยงาน Regulator น้องใหม่ แต่ก็ได้รับความเชื่อถือจากหลาย ๆ หน่วยงาน ซึ่ง Sandbox นี้ เป็นการดำเนินงานที่เกิดจากการกำหนดกลยุทธ์ของ ETDA เพื่อให้คนเกิดความมั่นใจในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการเป็นสนามทดลอง ปั้นนวัตกรรม สู่การกำหนดกฎหมาย มาตรฐาน แนวปฏิบัติต่าง ๆ ทำให้คนที่อยู่ในธุรกิจบริการดิจิทัล เกิดความร่วมมือ ทำงานร่วมกันในอนาคต
“สิ่งที่เรากำลังมุ่งไป คือการทำให้ผู้ใช้บริการและเจ้าของนวัตกรรมมั่นใจได้ว่า สิ่งที่มีนั้นใช้ได้จริง กฎหมายรองรับ ซึ่งวันนี้ ETDA เรากำลังเดินหน้าสิ่งเหล่านั้น ด้วยกลวิธีทั้งการทำ Sandbox และการตรวจรับรองมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยนั้นน่าเชื่อถือ และมั่นคงปลอดภัย” พลอย กล่าวทิ้งท้าย
ETDA กำลังเดินหน้าทำ Sandbox และการตรวจรับรองมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยน่าเชื่อถือ และมั่นคงปลอดภัย