Digital Trend
- 28 มิ.ย. 67
-
365
-
ETDA ชวนเปิดเรื่องจริง “อินฟลูเอนเซอร์” อาชีพสุดว้าวของคนดิจิทัล กว่าจะเป็นได้ ไม่ง่ายเลย
หากพูดถึงอาชีพที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจและอยากเป็นมากที่สุด เเน่หล่ะว่าต้องมี “อินฟลูเอนเซอร์” อาชีพในฝันแห่งยุคดิจิทัล ด้วยเหตุผลที่ว่า นอกเหนือจากรายได้ที่เย้ายวนใจแล้ว ยังมีแรงดึงดูดสำคัญ คือ ความเป็นอิสระ ได้ทำในสิ่งที่ชอบ กล้าที่จะเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่แบบไม่มีกรอบ และที่สำคัญอาชีพนี้ เปิดกว้างต้อนรับทุกคนอย่างเท่าเทียม เรียกว่า ไม่ว่าใครก็เป็นได้ เพียงแค่มีจุดเด่น แนวทางและคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน แตกต่าง!
แต่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ชีวิตดีจริงไหม?
จะเริ่มต้นสร้างชื่ออินฟลูเอนเซอร์ต้องทำอย่างไร?
สามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้หรือไม่?
ก็คงเป็นคำถามที่หลายคนมีข้อสงสัยอยู่ไม่น้อย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมให้คนไทยรู้เท่าทันเพื่อพร้อมสู่การเป็น Digital Workforce ที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน จึงจับมือตัวแม่ ตัวมัมแห่งวงการอินฟลูเอนเซอร์ อย่าง
- ดร.นนทพร ธีระวัฒนสุข หรือ หญิงแย้ อินฟลูสายบิวตี้ยุคบุกเบิก
- คุณภูเขา พิชฌ์พสุภัทร วงศ์อำไพ และ คุณบุญรอด อารีย์วงษ์ 2 คู่หูยูทูบเบอร์รุ่นใหม่ไฟแรงจากจากช่อง Poocao Channel
- คุณเบล พิชิตชัย โพธิ์ศิริ นักพากย์โฆษณาชื่อดัง
มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์และตอบคำถามที่หลายคนสงสัย อีกทั้งยังเฉลย Secret ว่าทำอย่างไรถึงจะอยู่บนเส้นทางสายอาชีพแห่งโลกดิจิทัลสุดคูลนี้ได้อย่างมีความสุข สนุกกับสิ่งที่ทำ ใน “ETDA LIVE ซีรีส์ ไลฟ์กำลังดี EP.1: ตีแผ่...เรื่องจริงแบบ ไม่คอนเทนต์ กว่าจะมาเป็นอินฟลูท่านหนึ่ง”
อินฟลูฯ อาชีพคูลๆ มีดีมากกว่ารายได้
อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หรือ เรียกสั้นๆ ว่า อินฟลู แปลตรงตัวตามรากศัพท์ก็คือผู้มีอิทธิพลในการชี้นำทางความคิด และการตัดสินใจ สามารถโน้มน้าวหรือจูงใจให้คนจำนวนมากคล้อยตามได้ด้วยการทำคอนเทนต์เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Instagram, Facebook, YouTube หรือที่กำลังมาแรงสุดๆ อย่าง Tiktok นับเป็นอาชีพที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ สะท้อนได้จากผลสำรวจ 10 อันดับอาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่ปี 2567 ของสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 802 คน ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นไปจนถึงระดับปริญญาตรี พบว่า อาชีพ อินฟลูเอนเซอร์ สตรีมเมอร์ ยูทูบเบอร์ อยู่ในอันดับที่ 4 ของอาชีพที่เด็กรุ่นใหม่อยากทำมากที่สุด
ซึ่งเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ต่างมีความเห็นตรงกันว่า นับเป็นเรื่องดีที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจต่ออาชีพนี้ เพราะมองว่า เป็นอาชีพที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กและเยาวชนสามารถทำเป็นอาชีพเสริมระหว่างเรียนได้ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาโตเร็วขึ้น ได้รู้จักโลกภายนอกมากขึ้น มีโอกาสลองผิดลองถูก ลองดูว่าหากมาเดินบนเส้นทางสายนี้จริงๆ จะเป็นอย่างไร จะไปรอดหรือไม่ ได้รู้จักหารายได้ด้วยตนเอง รู้ถึงความยากลำบากในการหาเงิน ทำให้รู้จักคุณค่าของเงินและมีวินัยในการใช้เงิน และที่สำคัญที่สุดคือสามารถทำเป็นอาชีพหลักได้ ทำให้พวกเขามีโอกาสและมีทางเลือกในชีวิตเพิ่มขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง นับเป็นอาชีพที่เปิดกว้างสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องยึดติดกับค่านิยมหรืออยู่ภายใต้ระบบเดิมๆ อีกต่อไป
เปิดคุณสมบัติที่ อินฟลูฯ ต้องมี หากอยากจะเป็น!
สำหรับใครที่กำลังมองหาอาชีพเสริมหรือสนใจอยากลองทำอย่างจริงจัง เหล่าอินฟลู แนะนำว่า คุณสมบัติสำคัญของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ อันดับแรกเลยคือ
1. ต้องแตกต่างอย่างมีสไตล์ และเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด มีตัวตนที่ชัดเจน มีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น แตกต่าง ไม่เหมือนใคร และต้องมีความเป็นธรรมชาติ จริงใจ
2. ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมรองรับแรงกระแทกจากทุกทิศทางจากโลกออนไลน์ ทั้งจากผู้ชม ลูกค้า และสังคมภายนอกที่จะแสดงความคิดเห็นทั้งดีและลบต่อเราได้ทุกเวลา
3. ต้องสมีติ ไม่ดูถูกตนเอง เวลาเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ โด่งดัง หรือร่ำรวยกว่าก็อย่าเสียกำลังใจ อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร เพราะแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน มีจังหวะ เวลา และโอกาสที่แตกต่างกัน ต้องเชื่อมั่นในตนเอง มีจุดยืนที่มั่นคง ไม่สูญเสียตัวตนไปตามกระแส และอย่าด้อยค่าตัวตนของตนเอง
4. ต้องมีความอดทนและพยายามอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอินฟลูมือใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีผู้ติดตามหรือยังไม่เป็นที่รู้จัก ต้องปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ต้องมีวินัยและขยันสร้างคอนเทนต์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ
สร้างคอนเทนต์อย่างไรให้ปัง ยอดผู้ติดตามพุ่ง
ในยุคโซเชียลมีเดียที่ทำให้ทุกอย่าง Go Viral ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เรามักเห็นปรากฏการณ์ “ดังเพียงชั่วข้ามคืน” อยู่บ่อยครั้ง แต่การโด่งดังไม่ยากเท่าทำอย่างไรที่จะรักษาความโด่งดัง มีชื่อเสียงได้อย่างยาวนาน เพิ่มผู้ติดตามได้เรื่อยๆ และไม่ให้หายไปจากกระแส ซึ่งในวงสนทนา มองว่า อาจไม่มีสูตรสำเร็จหรือกฎเกณฑ์ตายตัวเพราะแต่ละคนมีความถนัด ความชอบ และสไตล์แตกต่างกันไป แต่ก็มีข้อแนะนำหลักๆ ในการสร้างคอนเทนต์ อย่างไรให้ติดปัง เช่น
- รู้จุดปัง สร้างกระแส ต้องรู้จักตัวเองก่อนว่ามีอะไรเป็นจุดขาย ทำอะไรแล้วสามารถเรียกกระแสให้คนสนใจได้ หรือทำอะไรแล้วสร้างกระแสขึ้นมาในสังคมได้ ซึ่งแต่ละคนก็มีจุดขายที่แตกต่างกัน
- ตามเทรนด์ได้ แต่ต้องตามแบบมีสติ ต้องคอยตามเทรนด์ว่าช่วงนี้อะไรกำลังดัง เพื่อไม่ให้ตกกระแส และทำคอนเทนต์ให้สอดคล้อง ซึ่งจะเป็นทางลัดที่จะดึงความสนใจของคนส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้นได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องตามกระแสไปทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความชอบหรือความถนัดของแต่ละคน
- รู้จักแกะรอยความสำเร็จ ต้องหมั่นสังเกตและเรียนรู้พฤติกรรมผู้ชมและจับทางให้ได้ว่าคอนเทนต์หรือการนำเสนอแบบใดที่ผู้ชมหรือแฟนคลับชื่นชอบมากเป็นพิเศษ โดยดูได้จากคอนเทนต์ที่มียอดวิวยอดไลค์ หรือ engagement สูงๆ แล้วพยายามทำคอนเทนต์ในลักษณะเดียวกัน
- Key message ต้องโดน ตัวชี้วัดสำคัญว่าจะไปรอดหรือจะร่วงบนเส้นทางสายนี้คือ “คอนเทนต์” ต้องสร้างคอนเทนต์ที่ดีมีคุณภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ น่าสนใจ ชวนให้ติดตามและที่สำคัญต้องสื่อสารด้วย Key message ที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ตอบโจทย์ตรงใจลูกค้า ดึงดูดและโดนใจกลุ่มเป้าหมาย
- ต่อเนื่องทุกเรื่องทั้งในและนอกกระแส ต้องมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอทั้งในการทำคอนเทนต์การติดต่อสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดตาม ไม่ใช่ทำๆ หยุดๆ มาๆ หายๆ เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับผู้ติดตาม ไม่ให้ถูกลืม และเพิ่มยอดผู้ติดตามได้เรื่อยๆ
เป็น “อินฟลูฯ มือทอง” ต้อง “สตรอง” เบอร์ไหน?
แน่นอนว่าอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ก็ไม่ต่างจากทุกสาขาอาชีพที่ไม่ได้มีแต่มุมที่สวยงาม เพราะหน้ากล้องที่ดูเหมือนจะมีแต่ความสนุกสนาน แต่ด้านมืดที่เหล่าอินฟลูฯต้องเจอก็มีมากใช่เล่น เพราะในวันที่ยิ่งมีคนติดตาม มีชื่อเสียง โอกาสที่จะเป็นจุดสนใจ เป็นเป้านิ่ง หรือรองรับฟีดแบกต่างๆ ก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งเหล่าอินฟลูระดับแถวหน้า ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า หากจะเป็นอินฟลูต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับอะไรบ้าง
- รับตำแหน่งบุคคลสาธารณะ ที่มาพร้อมแรงปะทะจากรอบด้าน สิ่งแรกที่อินฟลูฯ ต้องเจอทันทีที่ก้าวเข้ามาในสายอาชีพนี้ คือ ตำแหน่ง “บุคคลสาธารณะ” ที่ต้องพร้อมรองรับคำวิจารณ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงยิ่งทำให้คนหลังคีย์บอร์ดขาดความยับยั้งชั่งใจ อยากพิมพ์อะไรก็พิมพ์โดยไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น สร้าง Hate Speech หรือ Cyberbullying ทำร้ายจิตใจ จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
- รับบทนางแบก แบกรับความคาดหวัง ความเป็นบุคคลสาธารณะมักจะพ่วงมาด้วยความคาดหวัง เช่น หน้ากล้องเป็นอย่างไร หลังกล้องต้องเป็นอย่างนั้น หรือต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ซึ่งเหล่าอินฟลูได้แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า อินฟลูแต่ละคนมีบุคลิกที่แตกต่างกันไป บางคนหน้ากล้องเป็นอย่างไรหลังกล้องก็เป็นแบบนั้น ในขณะที่บางคนหน้ากล้องดูเฟรนด์ลี่สนุกสนาน แต่หลังกล้องอาจเป็นคนเงียบๆ เก็บตัว จึงอยากให้ทุกคนมองอย่างเข้าใจว่าอินฟลูเอนเซอร์ ก็คือคนธรรมดาๆ ทั่วไป ไม่อยากให้ตัดสินว่าใครเป็นอย่างไรเพียงเพราะเจอกันเพียงแค่แวบเดียวหรือรู้จักเพียงแค่มุมเดียว
- ตรงไปก็ไม่ได้ อวยไปก็ไม่ดี ในฐานะผู้มีอิทธิพลในการชี้นำทางความคิด ความลำบากใจที่อินฟลูฯ ต้องเจออยู่บ่อยๆ คือ การหาจุดที่พอเหมาะพอดีในการแสดงความคิดเห็น เพราะบางครั้งการแสดงความคิดเห็นที่ตรงเกินไปหรืออวยเกินไปก็อาจสร้างผลกระทบในเชิงลบได้ ฉะนั้นอินฟลูจึงต้องหลีกเลี่ยงการรีวิวแบบตัดสินหรือฟันธง ขณะเดียวกันผู้ชมก็ต้องมีวิจารณญาณและไม่จำเป็นต้องเชื่ออินฟลูทั้งหมด
- รุ่งได้ ร่วงได้ ต้องกระจายความเสี่ยง ด้วยกระแสโซเชียลที่มาเร็วไปเร็วอีกทั้งยังมีอินฟลูฯ หน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้เสมอว่าเราอาจจะไม่ได้อยู่ในกระแสตลอดเวลาหรือโด่งดังเป็นดาวค้างฟ้าตลอดไป ฉะนั้นจึงไม่ควรทำเพียงอาชีพเดียว แต่ต้องมีอาชีพเสริม มีรายได้หลายๆ ทาง เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
แม้อาชีพอินฟลูเอนเซอร์ที่หลายคนมองว่าเต็มไปด้วยโอกาสที่มาพร้อมกับความเสี่ยงและความท้าทายเป็นเงาตามตัว แต่ก็ยังเป็นอาชีพเนื้อหอมและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของอาชีพนี้ที่เหล่าอินฟลูตัวแม่ต่างแนะนำคือ การดูแลจิตใจตัวเองและมีความสุขกับคอนเทนต์ที่ทำ ซึ่งไม่ควรฝืนทำในสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่ใช่ตัวเอง และอย่าเอาความสุขไปผูกกับใคร ไม่ให้มาตรวัดของคนอื่นหรือของสังคมมามีอิทธิพลที่กำหนดความเป็นเราและอย่าลืมเวลาในการสร้างสุขให้ตัวเอง รู้จัก Work Life Balance สร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เพื่อไม่ให้เราเกิดอาการ Burnout และมีความสุขบนเส้นทางในสายนี้ได้อย่างยั่งยืนแบบของจริง