e-Commerce
- 17 เม.ย. 63
-
2855
-
โอกาสออนไลน์อยู่ที่ไหน โควิด-19 สอนอะไรเรา
เวที “eCommerce Thursday” โดย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย พันธมิตรกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาตลอด จัดขึ้นเพื่อให้กำลังใจทุกคนในการเอาตัวรอดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจัดขึ้นทุกวันพฤหัสบดี โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ได้จัดขึ้นในหัวข้อ “สินค้าไหมปัง สินค้าไหนแป๊ก ในยุคโควิด-19 ปรับตัวยังไง?" มีกูรูผู้รู้ 3 ท่านมาแชร์ไอเดียกัน คือ
กลุ่มคนที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤต
คิว ทำ e-Commerce เข้าปีที่ 10 มีแบรนด์สินค้าของตัวเองและทำให้ตัวแทนจำหน่าย เป็นทั้งวิทยากรและที่ปรึกษาแบรนด์ต่าง ๆ รวมทั้งทำเพจที่เป็นชุมชนเพื่อช่วยให้คนขายของออนไลน์ได้ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 17,000 คนแล้ว บอกว่า
“ตอนนี้ แต่ละคนก็มีคำถามในหัวอยู่ ระหว่าง
ฉันต้องทำให้ธุรกิจเดิมของฉันรอด หรือ
ฉันจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจใหม่ เช่น ทำร้านอาหารอยู่ คำถามคือ ต้องเลิกทำไหม แล้วต้องไปทำอย่างอื่นเหรอ หรือ คนขายเครื่องมือช่างในห้าง แล้วเขาจะต้องขายเครื่องมือช่างแต่เป็นออนไลน์ หรือจะหยุดเครื่องมือช่างแล้วไปทำธุรกิจตัวอื่น ซึ่งจะมีความรู้สึกย้อนแย้งแบบนี้อยู่กับใครหลาย ๆ คน”
คิว จึงขอแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
- กลุ่มที่ไม่ได้มีสินค้า คือ คนตกงาน ลูกจ้างประจำที่โดนเลย์ออฟมา หรือคนที่กระโดดเข้ามาในธุรกิจออนไลน์ใหม่ ๆ เป็นกลุ่มที่สามารถไปเริ่มธุรกิจอะไรได้เลย ซึ่งการเข้าสู่วิถีออนไลน์จะง่ายกว่า
- กลุ่มที่มีธุรกิจอยู่แล้ว และคิดว่าจะพาธุรกิจให้รอดอย่างไร ซึ่งภาวะแบบนี้ ให้มองเป็นโอกาสดีที่จะได้เข้ามาทำเรื่องที่อาจผัดวันประกันพรุ่งมาตลอด
ในการก้าวเข้าสู่ออนไลน์
คิว บอกว่า มีข้อมูลที่มากพอที่จะทำให้ขายออนไลน์ได้ในยูทูบ เช่น วิธียิงแอด วิธีลงของแพลตฟอร์ม e-Marketplace วิธีทำ GMB ฯลฯ อะไรก็ตามที่จะช่วยให้ขายของออนไลน์ได้ ข้อมูลเหล่านี้มีสอนอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือ การเปิดใจว่า ไปแบบเดิมไม่ได้แล้วนะ ต้องมาทำออนไลน์แล้ว และทำให้ได้
สินค้าแบบไหน ที่คนต้องการในภาวะแบบนี้
สำหรับตัวสินค้า
คิว ยกวิธีวิเคราะห์ตามทฤษฎีของ Maslow (Maslow's hierarchy of needs) ว่าคนเรามีความต้องการเรื่องปัจจัย 4 ความปลอดภัย การยอมรับ การยกย่อง วันนี้ ของแบรนด์เนมอาจต้องลดลง คนมีเงินก้อนนึง ต้องเอาไว้กินอยู่และความปลอดภัยก่อน ดังนั้น ของที่ตลาดจะขายได้คือ ความปลอดภัยกับปัจจัย 4 เป็นหลัก ก็คือเรื่อง
อาหาร เป็นอาหารที่สต๊อกในตู้ได้ ส่วนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ก็ต้องแยกให้ออกกับแฟชั่นด้วย เพราะคนยังต้องใส่ แต่ไม่ได้ออกไปโชว์ที่ไหน
สิ่งที่น่าสนใจคือ
ความปลอดภัย ซึ่งในความคิดของ
คิว คือ
ความมั่นคงในหน้าที่การงาน สินค้าที่น่าสนใจคือ สินค้าที่ทำให้สามารถประกอบอาชีพที่บ้านได้ เช่น คนตกงานมา ถ้าทำอาหารขาย ก็ต้องการเครื่องมือบางอย่าง เช่น เครื่องซีลสุญญากาศ กระทะ หม้อลมร้อน หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้ทำอาหารและส่งขายจากบ้านได้ หรืออาจจะเป็นคอร์สออนไลน์ เป็นชุดความรู้ที่ทำให้นำไปประกอบอาชีพได้ เช่น คอร์สสอนทำอาหาร หรือพ่อครัว จะขายว่าสอนทำหมูปิ้ง จากครัวหลังบ้าน สอนทำออนไลน์ให้เขาไปประกอบอาชีพได้
2 กลุ่มคน กับความต้องการ ตาม Timeline
การมอง “อาหาร” และ “สินค้าสร้างอาชีพ” ว่าเป็นที่ต้องการของคนในภาวะนี้ ยังมองตามช่วงระยะเวลาที่เกิดวิกฤตด้วย โดย
คิว แบ่งกลุ่มคนเป็น 2 กลุ่มคือ
- กลุ่มที่เหลือเงินจำกัด พอดำรงชีวิตอยู่ในบ้านได้ และมองหาโอกาสในการทำอาชีพเสริม ซึ่งเกี่ยวข้องกับ อาหาร หรือมองหาสินค้าที่สร้างอาชีพได้
- กลุ่มที่ยังได้เงินเดือน แต่บริษัทให้อยู่บ้าน คนกลุ่มนี้ซื้ออะไร ก็คือมองของทั่วไปที่จะทำให้เขาอยู่บ้านได้มีความสุขมากขึ้น เริ่มปรับปรุง renovate บ้าน หรือของแก้เบื่อในเวลาที่อยู่บ้าน เช่น Nintendo Switch ขายดีมาก หรือคนมีลูก ก็หาของที่ทำให้อยู่กับลูกได้ เพราะโรงเรียนก็ปิด แต่พ่อแม่ต้องทำงานไปด้วย จึงต้องมีของเล่นหรือทำให้เด็กเบี่ยงเบนความสนใจจากผู้ปกครองได้
วันนี้ ทุกคนเชื่อว่าหรือหวังว่า สิ้นเดือนนี้จะจบในเรื่องเคอร์ฟิว หลายคนในกลุ่มที่ 2 ยังรู้สึกว่าอยู่บ้านเหมือนปิกนิก แต่ถ้าเกิดว่าไม่จบ หลัง 30 เมษายน ก็จะเป็นอีกมิติหนึ่ง กลุ่มที่ 2 ที่เชื่อว่าเงินเขายังพอ จากที่ซื้อของแต่งบ้าน หรือใช้จ่ายฟุ่มเฟือยยังพอจ่ายไหว ถ้าเกิดยืดระยะเวลาถึงกรกฎาคม คนจะเริ่มตระหนักว่า เงินที่เก็บมาเริ่มไม่พอ คนกลุ่มที่ 2 จะต้องลดลงมาเทียบเท่าคนกลุ่มแรก ที่เน้นเรื่องการกินอยู่และความปลอดภัย
ความต้องการของคนคอนโด ในภาวะไปไหนไม่ได้
ฝั่ง
ผรินทร์ ในฐานะ CEO Nasket ซึ่งเป็นอุปกรณ์สมาร์ตโฮมที่เหมาะกับคนอยู่คอนโด ได้วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าเป็น 3S คือ
- Stay Home คือพวกอยู่บ้านแล้วต้องทำอะไรที่บ้าน ซึ่งเป็นแนวอยู่คอนโด ที่เป็นพวกที่ไม่มีลูก ก็ใช้อุปกรณ์ที่ไม่ต้องแพงมาก
- Subscription คือของที่ต้องกินต้องใช้ตลอดเวลาอยู่ที่บ้าน เช่น น้ำ ทิชชู ไข่ ฯลฯ จะมีวิธีให้ซื้อแบบ Subscription ได้ถูกไหม
- Sanitary คือ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด ซึ่งมองข้ามไปถึงว่า หลังกักตัวต้องไปทำงานแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่จบ กลับมาบ้านก็ต้องสะอาด
นอกจากนี้ อาหารก็ยังเป็น Subscription ได้ด้วย เพราะคนที่อยู่คอนโดทำอาหารไม่เก่ง ครัวก็เป็นครัวอุ่น การจะสั่ง On-demand kitchen ทุกวัน ก็คงจะทำไม่ได้ทุกวัน เพราะทั้งราคาอาหาร รวมค่าส่งค่อนข้างสูง การออก Subscription มื้ออาหารเหมือนการผูกปิ่นโต แต่ไปคัดร้านอาหารที่ทำอร่อยและราคาไม่สูง สามารถรับประทานได้ทุกวัน แม้จะมีตัวเลือกของเมนูอาหารไม่มาก ก็เน้นราคาขั้นต่ำและค่าส่งที่ถูก ที่สำคัญคือรสชาติอร่อย
คิว เสริมว่า เห็นด้วยเรื่องการส่ง Delivery ในช่วงแรก ๆ ของวิกฤต กล่องสำหรับ Delivery ขายดีมาก ๆ แต่พอถึงจุดหนึ่ง คนซื้อจากบริการอาหารปรุงสำเร็จมารับประทานไม่ได้ทุกวัน เพราะเรื่องราคา ก็ต้องค่อย ๆ ซื้ออาหารที่เก็บตุน ที่แช่เย็นได้ ซึ่งราคาก็ยังสูงอยู่แค่เก็บไว้ได้นาน จะรับประทานก็อุ่นทานได้เลย ต่างกับบริการส่งที่ต้องรอ แต่เมื่อพ้นช่วงนี้ไป เชื่อว่า คนจะเริ่มทำอาหารกินเองเป็นหลัก เพราะต้องพยายามลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด คนจะเริ่มเป็น Master Chef กันมากขึ้น
ถ้าเวลายืดออกไปเรื่อย ๆ คนก็จะเริ่มพึ่งพาความสามารถของตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร หมายถึงทุกอย่าง ว่าฉันจะต้องพึ่งตัวเองแล้ว
เมื่อสถานการณ์บีบให้คนที่ไม่เคยขายของ ต้องมาขายของ ต้องทำไง
คิว และ
ผรินทร์ ร่วมกันแนะนำว่า
- กลุ่มสินค้าที่ขายได้ เช่น ขายอาหารมา แต่ขาดชุดความรู้อยู่ ต้องหาตัวช่วยจากคนที่ขายออนไลน์ เช่น ผลิตให้เขาไปขายไหม ถ้าขายไม่เป็น ลองประกาศรับ OEM รับผลิตให้เขาไป แต่ถ้ามีพื้นอยู่บ้าง ศึกษาเองในยูทูบก็ทำได้ แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้อาจจะช้าไป การหาพาร์ตเนอร์ที่มีฝีมืออยู่แล้วมาช่วยก็จำเป็น ไม่ได้ไปจ้างใครหรืออะไร แต่หาผู้มาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ โดยแต่ละฝ่ายต้องยอมรับความจริงว่า ห้างปิดแล้ว ต้องมองหาสิ่งที่เราไม่มี ต้องร่วมมือกับคนอื่นที่เก่งอีกด้านแล้ว
- กลุ่มบริการที่หยุดชะงักไปเลย เช่น นวด ตัดผม อาชีพที่ถึงเนื้อถึงตัว ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นให้ความรู้ผ่านออนไลน์ แทนที่จะไปนวด ก็เขียนเล่าเรื่องเป็นอีบุ๊ก เป็นคอร์สออนไลน์
- กลุ่มเล่าเรื่องเก่ง ขายอุปกรณ์ได้ เมื่อการนวดหรือการตัดผม บริการนั้นเข้าถึงยาก คนที่ทำเป็นลองเอาทักษะ ผนวกการนำเสนอขายอุปกรณ์สำหรับการตัดผม หรืออุปกรณ์การนวด ถ้าเล่าเป็น นำเสนอเก่ง ๆ ก็น่าจะทำให้ขายของได้เร็ว
- กลุ่มเล่าเรื่องเก่ง ขายคอนเทนต์ได้ คนขายของต้องการคอนเทนต์ คนมีประสบการณ์ที่ขายของไม่ได้ แต่เล่าเรื่องเก่ง ก็ลองไปเสนอทักษะด้านการเขียน การเล่ากับคนขายของ เพื่อให้เขานำประสบการณ์ของเราไปใช้
โอกาสมากับคน นั่งอยู่เฉย ๆ ก็ไม่เจอโอกาสหรอก
คิว บอกว่า โอกาสมากับคน ถ้านั่งอยู่กับบ้านเฉย ๆ ก็ไม่เจอโอกาส แต่การคุยและแชร์กับคนอื่น จะทำให้เราเห็นไอเดียบางอย่าง ยิ่งมีเพื่อนที่มี Mindset เดียวกันเยอะ ๆ ได้แลกเปลี่ยนกันเยอะ ๆ เราก็จะมีทางออก เช่น กลุ่มในเพจเวิ่นเว้อ channel ที่มีคนกว่าหมื่น มาแสดงว่าตัวเองว่ามีอะไร แล้วจะช่วยอะไรเขาได้
“การมีคอนเนกชันเริ่มจากการอยากให้ ไม่ใช่การอยากได้ ผมทำอาหารเก่ง อยากได้คนออกแบบแพ็กเกจ มาร่วมมือกันได้ไหม คือต่างคนต่างให้กัน แต่ไม่ใช่ น้องพี่จะตายแล้ว น้องช่วยพี่หน่อย แบบนี้คือภาระ แล้วจะหาคอนเนกชั่นไม่ได้”
สถานการณ์ตอนนี้ยังเกิดกลุ่มก้อนอย่าง จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส ในการเป็นพื้นที่สร้างโอกาสให้กับคนที่ว่างงานและขาดรายได้
อย่าพูดว่า ฉันทำไม่ได้หรอก แต่บอกตัวเองว่า ถ้าฉันจะทำ จะทำยังไง
คิว ให้ข้อคิดกับคนที่จะทำออนไลน์ว่า
- อย่าเพิ่งตัดสินว่าอะไรเหมาะ หรือไม่เหมาะไปเองก่อน
- อย่าพูดว่า ฉันทำไม่ได้หรอก แต่บอกตัวเองว่า ถ้าฉันจะทำ จะทำอย่างไร
ถ้าเปลี่ยนคำถาม เราจะเห็นมุมมองบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น การสอนพิเศษเสริมพัฒนาการเด็ก ถ้าจะทำเป็นออนไลน์ ต้องทำอย่างไร
คิว บอกว่า ถ้าคิดเร็ว ๆ เช่น เราสอนที่แม่เด็กไหม ให้แม่มีศักยภาพที่จะเล่นกับลูกได้ไหม สอนวิธีการเลี้ยงลูกได้ไหม หรือขายของเสริมพัฒนาการเด็กได้ไหม เรารู้ว่าเด็กแต่ละขวบมี Mindset อย่างไร คิดอะไร เหมาะกับของเล่นแบบไหน ถ้าเราเข้าใจจิตวิทยาเด็ก ก็ลองเอาชุดความรู้ไปบวกสินค้าได้ไหม
“คนขายแป้งโดว์ธรรมดาบนออนไลน์ กับคนขายที่บอกได้ว่า แป้งโดว์ เสริมพัฒนาการเด็กยังไง คนน่าจะเลือกซื้ออย่างหลังมากกว่า ลองใส่ความรู้ในสินค้าเข้าไป ราคาอาจจะขายได้แพงกว่าปกติด้วย”
คิว ย้ำว่า หลายคนก็บอกว่า “ชั้นทำไม่ได้หรอก” ซึ่งถ้าเราตีโจทย์ว่าไม่อยากจะเปลี่ยน เราก็ไปไหนต่อไม่ได้เลย ต้องยอมรับก่อนว่านี่คือสภาพสงคราม จะทำเหมือนเดิมไม่ได้
โจทย์ที่เราต้องรู้คือ เราต้องหาอะไรทำที่ไม่เหมือนเดิม อย่าเลือกอะไรที่มักง่าย คือง่ายสำหรับตัวฉัน ไม่ต้องเปลี่ยนอะไร ลองพยายามทำอะไรที่มักยาก เมื่อไรก็ตามที่ยาก เราจะขยับไปอยู่อีกจุดหนึ่ง ที่มีโอกาสมากกว่าเดิม แต่ถ้าเลือกจะทำแบบเดิม ที่เดิม แล้วคาดหวังว่า เราจะพ้นจากวิกฤตนี้ได้ ก็เป็นไปไม่ได้
หลังสถานการณ์นี้ พวกเราจะปรับตัวกันอย่างไร
ในมุมของ คิว เขาบอกว่า ต้องใช้เวลาเป็นปี ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความรู้สึกคน จากที่เคยคิดว่า ความรู้ที่เรียนมา จะใช้หากินตลอดชีวิต วันนี้ตระหนักแล้วว่า ไม่เวิร์ก คนจะหาอาชีพที่ 2 อาชีพที่ 3 เริ่มวางแผนการเงิน เริ่มดูแลความสะอาด เพราะไม่รู้ว่าโรคจะกลับมาอีกเมื่อไร เริ่มใส่ใจสิ่งแวดล้อม
“อะไรก็ตามที่เราคิดว่า เรากังวล หลังผ่านวิกฤตนี้ไป ความกังวลจะเกิดขึ้นเป็นธุรกิจเสมอ เพราะธุรกิจคือการเข้าไปแก้ปัญหา”
ถ้าคนกังวลเรื่องอาชีพ เราสามารถขายอะไรให้เขาไปประกอบอาชีพได้ไหม หรือคนเริ่มวางแผนการเงิน อาชีพบริการ นักวางแผนการเงิน จะมาหลังผ่านวิกฤตนี้ไป เรื่องความสะอาด เรื่องสุขภาพ คนจะกินอาหารที่สะอาดขึ้น ออร์แกนิกจะมหาศาล เริ่มเรียนรู้อยู่กับทักษะความสามารถของตนเอง เริ่มหาสถานที่ที่ปลอดภัย เริ่มหาแผนสองให้ชีวิต จากทุ่มทุกอย่างมาอยู่ในเมือง คนจะหาทางถอย เช่น มีที่ดินต่างจังหวัด ที่ปลูกผัก ปลูกข้าวเองไว้ไหม ถ้าธุรกิจนั้นตอบโจทย์เรื่องแผนสำรองของคนได้ เริ่มทำวันนี้ น่าจะเป็นโอกาสที่ดี
ผรินทร์ เสริมว่า ถ้าตอบถึงเรื่องการปรับตัว ถ้าย้อนไปปี 2540 เรามีสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีคือ ศิริวัฒน์แซนด์วิช เป็นการปรับตัวได้ดีแล้วก็ช่วยคนได้เยอะ ซึ่งถ้ามองไกล ๆ ถึงสิ้นปี ภาพสุดท้ายคือความยั่งยืน จากที่คน Gen X เคยมองว่า คือการได้ทำงานกับบริษัทใหญ่ และเติบโตได้เรื่อย ๆ ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่ หรือคนที่มีความคิดใหม่ ๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้น เขาเป็นคนที่มีรายได้หลายทาง ลดอีโก้ลง และมองหาหลาย ๆ ด้านทำพร้อมกัน
“เหมือนโยนไข่หลาย ๆ ใบพร้อม ๆ กัน แล้วความสามารถในการโยนได้หลาย ๆ ใบนี้คือความยั่งยืน คนที่มีความคิดทันสมัย เขามีรายได้หลาย ๆ ทางพร้อม ๆ กัน ไม่ได้รับทำทุกอย่าง แต่สร้างท่อไว้หลาย ๆ อัน ซึ่งทุกคนควรจะต้องมองแบบนี้แล้ว”
คิว ได้ฝากไว้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือกำลังใจ
- กำลังใจส่วนหนึ่งคือการทำให้ตัวเรายังมีแรง ต้องทำตัวเองให้เบาก่อน เพราะมาราธอนยังอีกไกล แถมเจอพายุเข้าอีก สิ่งสำคัญคือต้องทำตัวเองให้เบาก่อน เริ่มลดของที่ไม่จำเป็นลง เพราะนอกจากมันจะไกลแล้วยังยากด้วย การทำให้ตัวเองมีแรงมากที่สุดคือทำให้ตัวเองเบาที่สุด ยอมรับความจริงว่า พารถหรูไปด้วยไม่ได้ พาหนี้สินบางอย่างไปด้วยไม่ได้ ต้องเอาชีวิตรอดก่อน
- กำลังใจอีกส่วนคือกำลังใจจากภายนอก คนวิ่งมาราธอนจะไปไกลได้ ต้องมีเพื่อนวิ่ง มีเพื่อนคุย มีคนให้กำลังใจ ซึ่งคนที่มี Mindset เหมือนกันเป็นสิ่งจำเป็น ต้องพาตัวไปคุยกับคนพวกนี้ คนที่ให้กำลังใจ เชื่อว่าเราทำได้ ที่พยายามช่วยกัน ซึ่งจะทำให้เราเดินไปได้ไกล แต่ถ้าไปปรึกษาแล้วต่างคนต่างบอกไม่ไหว เพราะว่าโน่นนี่นั่น เราจะเดินได้อีกกี่วัน เพราะต้องหาคนผิดหรืออะไรมารับผิดชอบชีวิตเราตลอด ซึ่งสุดท้ายไม่มีใครรับผิดชอบชีวิตเราได้ นอกจากตัวเราเอง
“ต้องทำตัวเองให้เบา แล้วมีกำลังใจผ่านตรงนี้ให้ได้ อย่าคิดไปถึงรอดแบบร่ำรวย แค่รอดตอนนี้ก่อนก็โอเคแล้ว”
โควิด-19 ทำให้เราได้คิด ต่อการใช้ชีวิต และการหาโอกาสทางออนไลน์