e-Commerce
- 21 ต.ค. 63
-
3452
-
Facebook Group ช่องทางขายที่ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ตรงกลุ่มมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันการขายสินค้าออนไลน์กลายเป็นเรื่องปรกติที่ทุกคนต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หลายแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็น อีมาร์เก็ตเพลส (e-Marketplace) หรือ โซเชียลมีเดีย (Social Media) ต่างพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อรองรับพฤติกรรมและความต้องการของทั้งผู้ขายและผู้ซื้อทางออนไลน์มากขึ้น หลายครั้งที่บางฟีเจอร์ในบางแพลตฟอร์มได้มีการปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มลูกเล่นบางอย่าง เพื่อเป็นหนึ่งในช่องทางการขายจากพฤติกรรมของผู้ใช้งาน เช่น ฟีเจอร์การไลฟ์สด (Live) ที่นำไปขายสินค้า หรือ ฟีเจอร์ล่าสุดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ “กลุ่มในเฟซบุ๊ก หรือ Facebook Group” นั่นเอง
พลังกลุ่มคน รวมพลคอเดียวกัน
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเฟซบุ๊ก ในปี 2547 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) และเพื่อน ๆ ได้ร่วมกันก่อตั้งแพลตฟอร์มนี้ขึ้นเพื่อใช้สำหรับติดต่อพูดคุยกันในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ก่อนจะขยายการให้บริการไปทั่วโลกอย่างในปัจจุบัน หนึ่งในฟีเจอร์ที่มีนั้นคือ ฟีเจอร์
“กลุ่ม หรือ Group” ที่เปิดโอกาสให้คนที่มีความชื่นชอบหรือสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน ได้ตั้งกลุ่มเพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนความสนใจของกันและกัน ซึ่งผู้ที่จะเข้าร่วมการเป็นสมาชิกของกลุ่มจะต้องขอเข้าร่วมกลุ่ม และต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ก่อตั้งกลุ่มก่อน ถึงจะเข้าร่วมได้ นั่นหมายความว่า
“คนในกลุ่มมีจุดร่วมและความสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบเฉพาะเจาะจง หรือมีจุดร่วมสำคัญจุดเดียวกัน รวมกันอยู่ในกลุ่มนั้น ๆ”
“ที่ไหนมีบ่อปลา เราเดินไปตกปลา ที่ไหนมีตลาด เราไปหาโอกาสขาย”
เมื่อมีพื้นที่สำหรับคนที่ชื่นชอบเหมือนกันได้แบ่งปันเรื่องราวร่วมกัน สิ่งที่ตามมาคือการขายและส่งต่อสินค้าหรือบริการที่คนกลุ่มนั้น ๆ สนใจ เกิดเป็นตลาดขนาดย่อมที่ตีกรอบกลุ่มเป้าหมายได้ตรงกลุ่มมากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายที่ค่อย ๆ ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบกับประกาศและคำสั่งเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคของรัฐบาลที่ได้สั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ และขอความร่วมมือให้ผู้คนงดการเดินทางออกนอกเคหสถาน เมื่อผู้คนไม่สามารถออกจากบ้านได้ หลายธุรกิจจึงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีการประกาศเลิกจ้างพนักงานทั้งแบบชั่วคราวและถาวร ผู้คนตกงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องหาอาชีพและรายได้เข้ามาทดแทน ออนไลน์จึงเป็นช่องทางสำคัญที่ได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างรายได้ให้แก่ผู้คนผ่านการขายสินค้าประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะช่องทาง กลุ่มเฟซบุ๊ก ที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัด ทั้งกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นตามความสนใจ ตามประเภทของสินค้า กลุ่มสถาบันการศึกษา กลุ่มอาชีพ และ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน
“โพสต์ขายของในกลุ่มเฟซบุ๊ก กับหน้าเพจเฟซบุ๊ก ผลตอบรับจะค่อนข้างต่างกันเลย
ขายในกลุ่มคนที่มีความต้องการจริง ๆ สนใจจริง ๆ จะติดต่อสอบถามมาไวมาก
เพราะเขาเห็นโพสต์จากแจ้งเตือนที่เด้งด้วย แต่โพสต์ลงในเพจ บางทีเขาก็อาจจะมองไม่เห็นหรือมองผ่านไป”
- ผู้ขายสินค้ารายหนึ่ง กล่าว
ขายใน “เพจ กับ กลุ่ม” ต่างกันอย่างไร?
ความแตกต่างระหว่าง เพจ กับ กลุ่ม คือ
เพจเฟซบุ๊ก (Facebook Fanpage) จะเป็นเหมือนกับหน้าโปรไฟล์ผู้ใช้งานทั่วไปที่เราคุ้นเคยกัน ลักษณะการใช้งานจะเน้นที่การเผยแพร่ข้อมูลแบบเป็นสาธารณะ ผู้ใช้ทุกคนสามารถเข้าถึงและติดต่อกับทางเพจได้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการนำเสนอข้อมูลของบุคคลสาธารณะ องค์กร หน่วยงาน ร้านค้า แบรนด์สินค้า ฯลฯ แบบที่เน้นการสร้างความรู้จักแบบวงกว้าง ในแง่ของการขายสินค้า เพจเฟซบุ๊กมีฟีเจอร์อำนวยความสะดวกแบบครบวงจรให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น ระบบข้อความอัตโนมัติ ระบบจัดการแช็ตซื้อ-ขายสินค้า ระบบแสดงผลสินค้าและข้อมูล
ในขณะที่
เพจเฟซบุ๊ก เน้นเรื่องการสร้างความรับรู้และการเผยแพร่ข้อมูลแบบวงกว้าง และเป็นช่องทางติดต่อแบบเป็นทางการของแบรนด์หรือองค์กรต่าง ๆ ได้
กลุ่มเฟซบุ๊ก จะเป็นเหมือนพื้นที่กลุ่มสังคมที่เล็กลงมา มีทั้งกลุ่มที่เป็นสาธารณะ บุคคลภายนอกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ หรือจะเป็นกลุ่มที่ตั้งให้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นโดยจำกัดผู้เข้าถึง ให้ต้องได้รับการอนุมัติและตรวจสอบจากเจ้าของกลุ่ม หรือบุคคลภายในกลุ่มเสียก่อน ดังนั้น หากจะให้เปรียบเทียบข้อแตกต่างด้านการขายระหว่าง
“เพจ กับ กลุ่ม” อาจกล่าวได้ในมุมใหญ่ ๆ 4 มุม ได้แก่
- เรื่องการรับรู้: เพจ จะสามารถสร้างการรับรู้แบบวงกว้างได้มากกว่า ในขณะที่ กลุ่ม สามารถเข้าถึงเป้าหมายได้ตรงกลุ่มมากกว่า
- เรื่องกฎ กติกา: เพจ ผู้ขายจะมีอิสระในการโพสต์มากกว่า ในขณะที่ กลุ่ม อาจมีกฎ กติกา มารยาทของกลุ่มที่เจ้าของกลุ่มได้ตั้งไว้
- เรื่องการจัดการการขาย: เพจ จะมีตัวช่วยในการจัดการระบบหลังบ้านการขาย ในขณะที่ กลุ่ม ผู้ขายจะต้องจัดการและดำเนินการขายเอง ผ่านช่องทางแช็ตทั่วไป
- เรื่องการดำเนินการขาย: เพจ จะมีลักษณะการขายที่เป็นทางการมากกว่า ในขณะที่ กลุ่ม ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถโพสต์ขายสินค้าได้ด้วยแอ็กเคาต์ส่วนตัว ระดับการพูดคุยอาจมีความเป็นกันเองมากกว่า
เคล็ดไม่ลับ ขั้นตอนง่าย ๆ สำหรับมือใหม่หัดขาย (ในกลุ่ม)
วิธีการขายสินค้าผ่าน กลุ่มเฟซบุ๊ก สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
- ค้นหากลุ่มที่ตรงกับเป้าของเรา โดยเริ่มจากตั้งเป้าการขายสินค้าของเราเสียก่อน ว่าสินค้าของเราเป็นสินค้าแบบไหน ต้องการขายให้แก่คนกลุ่มใด จากนั้นทำการค้นหากลุ่มตามคีย์เวิร์ดสำคัญ เช่น หากเราต้องการขายอาหาร ให้ค้นคำว่า “กลุ่ม ขาย อาหาร” จากนั้นทำการอ่านเงื่อนไขข้อตกลงของกลุ่มนั้น ๆ ว่ามีกฎ กติกา มารยาทในการโพสต์ขายหรือตามหาสินค้าอย่างไร ตรงกับเป้าของเราหรือไม่ หากตรงให้ขอเข้าร่วมกลุ่มและรอรับการอนุมัติจากสมาชิกภายในกลุ่ม เมื่อได้รับการตอบรับแล้ว ก็ทำการโพสต์ขายภายในกลุ่มดังกล่าวได้เลย ข้อสำคัญคืออย่าลืมปฏิบัติตามกฎของแต่ละกลุ่มอย่างเคร่ดครัด
- หากไม่พบกับกลุ่มที่มีเป้าเดียวกันกับเรา สามารถตั้งกลุ่มขึ้นมาเอง โดยระบุประเภทของกลุ่มให้คนภายนอกที่สนใจได้รับรู้ เช่น กลุ่มขายอาหาร กลุ่มสำหรับผู้ที่มีประเภทสินค้าใดประเภทหนึ่ง หรือ กลุ่มคนละแวกเดียวกัน เชิญคนเข้ามาในกลุ่มที่ตั้ง แจ้งเงื่อนไข กติกา การโพสต์ขายหรือตามหาสินค้าให้แก่สมาชิกกลุ่มทราบ และสามารถโพสต์ขายสินค้าในกลุ่มได้ทันที
ตัวอย่าง กลุ่มเฟซบุ๊กที่ได้รับความนิยม
กลุ่ม “ของอร่อยเมืองปทุม” ที่มีสมาชิกในกลุ่มกว่า 90,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กันยายน 2563) เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ร้านค้าที่ขายอาหาร ขนม ของกินเล่น ในพื้นที่ของจังหวัดปทุมธานี ได้ทำการโพสต์ขายสินค้าเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวรับทราบ นอกจากร้านค้าที่ทำธุรกิจอาหารแล้ว ในกลุ่มนี้ยังเปิดโอกาสให้คนทั่วไปในพื้นที่ที่มีฝีมือด้านการทำอาหารและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 สามารถใช้ช่องทางนี้ในการขายสินค้าประเภทอาหาร แม้ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจหลักได้อีกด้วย
อ้างอิง:
Facebook Tips: What’s the Difference between a Facebook Page and Group?
กลุ่ม ของอร่อยเมืองปทุม