e-Commerce
- 04 พ.ย. 63
-
1444
-
e-Commerce เพื่อชุมชน ตอน ถอดโมเดลพัฒนาชุมชนในต่างแดน สู่การพัฒนาชุมชนไทย ตอนที่ 2
หลังจากทราบโมเดลการพัฒนาชุมชนของรัฐบาลจีน ที่จับมือกับเอกชนยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซอย่าง Alibaba ซึ่ง ETDA และหน่วยงานความร่วมมือได้นำโมเดลนี้มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาชุมชนไทยไปแล้ว(ถอดโมเดลพัฒนาชุมชนในต่างแดน สู่การพัฒนาชุมชนไทย ตอนที่ 1) สำหรับตอนที่ 2 นี้ จะนำเสนออีกหนึ่งโมเดลการพัฒนาชุมชนจากประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถนำมาปรับใช้กับการพัฒนาอีกหนึ่งชุมชนของไทยจนได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ทั้งเรื่องของรายได้และภาพลักษณ์ของชุมชน
เมื่อกล่าวถึงประเทศญี่ปุ่น สิ่งหนึ่งที่หลายคนนึกถึงคือ ความโดดเด่นทางวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านอัตลักษณ์ (Identity) ความเป็นญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงประโยชน์มากมาย ทั้งในแง่ของการแสดงออกถึงความเป็นชาติและในแง่ของเศรษฐกิจ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้นำเอาความแข็งแรงด้านวัฒนธรรมมาผสมผสานเข้ากับการทำอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) เพื่อสร้างการรับรู้และเผยแพร่วัฒนธรรมอันดี ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่น
(ภาพ: www.vill.inakadate.lg.jp)
หมู่บ้านอินาคะดาเตะ (Inakadate Village) หนึ่งในชุมชนที่เดิมได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากปัญหาขาดแคลนแรงงานและประชากรที่ลดลง ประกอบกับภาวะพิษเศรษฐกิจถดถอยในปี 2536 ที่ส่งผลกระทบทั่วทั้งประเทศ จนทำให้คนเกิดภาวะความเครียดและวิตกกังวลกับสถานการณ์ในขณะนั้น ชาวบ้านในหมู่บ้านอินาคะดาเตะที่ประกอบอาชีพหลักคือการปลูกข้าว จึงได้หาวิธีผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้นโดยการใช้ศิลปะผสานกับจินตนาการรวมเข้ากับการปลูกข้าว กลายเป็นผืนนาสีสันสดใสสวยงาม สร้างความประทับใจและความผ่อนคลายให้แก่คนในหมู่บ้านเป็นอย่างมาก
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านต่อยอดความสำเร็จจากผืนนาที่มีเพียงสีสันสดใสในขั้นต้นให้มีลวดลายต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยได้แรงบันดาลใจจากศิลปะบนผ้าใบ ให้เป็นศิลปะบนผืนนา หรือ Tanbo Art ของประเทศญี่ปุ่นขึ้น จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านอินาคะดาเตะที่สร้างชื่อเสียงและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาท่องเที่ยวที่นี่
ต่อยอดความสำเร็จ สู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์
ความนิยมของ
หมู่บ้านอินาคะดาเตะ ในหมู่นักท่องเที่ยวในประเทศของญี่ปุ่น ก่อให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่หมู่บ้านแห่งนี้หลากหลายมิติ เช่น สถานีรถไฟอินาคะดาเตะ ถนนหนทาง การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังส่งเสริมและขนานนามให้เป็นหมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อเรื่องข้าวอีกด้วย
นอกจากนี้ยังใช้ช่องทางการตลาดออนไลน์เพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างการรับรู้สู่ภายนอกให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการขายสินค้าชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ที่นำพามาซึ่งรายได้ให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้านและชุมชนพื้นที่โดยรอบได้เป็นอย่างดี
(กลุ่มพลังสตรีไทรม้าเหนือ จ.นนทบุรี)
ถอดบทเรียน ประยุกต์ใช้ ให้เข้ากับชุมชนทั่วไทย
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้การดำเนินงาน โครงการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน (Thailand e-Commerce Sustainability) เพื่อผลักดันให้การทำอีคอมเมิร์ซสามารถลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ และสร้างชาติ ได้ศึกษาและนำโมเดลการพัฒนานี้มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาชุมชน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถขายสินค้าออนไลน์และสร้างกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และมั่นคงปลอดภัย
จากโมเดล หมู่บ้านอินาคะดาเตะ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างเอกลักษณ์ชุมชนผ่านการแสดงออกทางศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม ประกอบกับการสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ จนทำให้ชุมชน หมู่บ้านอินาคะดาเตะ ประสบความสำเร็จ ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการขายผลิตภัณฑ์สินค้าของชุมชน เกิดเป็นแรงบันดาลใจสำหรับการพัฒนาชุมชน กลุ่มพลังสตรีไทรม้าเหนือ จ.นนทบุรี ชุมชนที่ชำนาญด้านการทำขนมไทยมงคลโบราณและขนมไทยประยุกต์กับสูตรเฉพาะฉบับไทรม้าเหนือ ที่มีการดัดแปลงส่วนผสมและรูปร่างของขนมไทยบางชนิดให้สะท้อนถึงผลไม้ประจำชุมชนอย่าง “ทุเรียนนนท์” จนออกมาเป็น “อาลัวทุเรียน ไทรม้าเหนือ” และขนมไทยกลิ่นทุเรียนต่าง ๆ มากมาย
นอกจากการผลิตขนมไทยเพื่อขายในงานมงคล และตามหน่วยงานต่าง ๆ กลุ่มพลังสตรีไทรม้าเหนือ ยังได้พัฒนาต่อยอดตามโมเดล หมู่บ้านอินาคะดาเตะ ส่งเสริมให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม โดยการจัดกิจกรรม “Workshop ขนมไทย ไทรม้าเหนือ” ให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ขั้นตอนวิธีการทำขนมไทยชนิดต่าง ๆ ในราคาย่อมเยา โดยประชาสัมพันธ์ชุมชนผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กเพจ ขนมไทย ไทรม้า - รับสอนทำขนมไทยโบราณ อย่างต่อเนื่อง
หลังจากที่ชุมชน กลุ่มพลังสตรีไทรม้าเหนือ ได้ทำการตลาดผ่านออนไลน์ ก็ทำให้มีผู้รู้จักชุมชนและสนใจติดต่อเข้ามาเรียนรู้วิธีการทำขนมไทยกับชุมชนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนสามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชนและยังช่วยเสริมสร้างความสามัคคีแก่คนในชุมชนในการร่วมดำเนินการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันอีกด้วย
อ้างอิง:
องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO)
ขนมไทย ไทรม้า - รับสอนทำขนมไทยโบราณ