e-Commerce
- 15 มิ.ย. 64
-
3176
-
ชี้เป้า 4 วิธี สร้างรายได้ใน “วงการวิดีโอคอนเทนต์”
สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ได้กลับมาแพร่ระบาดรุนแรงอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการระบาดระลอกที่ 3 ในประเทศไทยที่มีจำนววนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันในแต่ละวัน ส่งผลให้มีการประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค การประกาศเลื่อนการเปิดภาคเรียน หรือแม้แต่การประกาศ Work Form Home ในหลายหน่วยงาน
ภาวะแบบนี้ ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการรับชมสื่อวิดีโอผ่านช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 ในรอบแรก
รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2563 ได้สะท้อนให้เห็นว่า YouTube ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ครองใจคนไทยในการดููรายการโทรทัศน์ ดููคลิป ดููหนัง ฟังเพลงทางออนไลน์ โดยผู้ตอบ คิดเป็น 99.1% ชมผ่าน YouTube รองลงมาคือ Netflix คิดเป็น 55.6% LINE TV คิดเป็น 51.9%
ในขณะที่ Think with Google เผยว่า ในปี 2563 คนไทยใช้เวลาเพื่อดูคลิปวิดีโอบน YouTube เพิ่มขึ้นกว่า 20% และช่อง YouTube ของคนไทยที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน มีกว่า 450 ช่อง แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า คนไทยให้ความสนใจและชื่นชอบการรับชมคอนเทนต์รูปแบบวิดีโอเป็นอย่างมาก
สิ่งนี้เองที่ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการสร้างรายได้จาก “วงการวิดีโอคอนเทนต์” ในรูปแบบหน้าที่ต่าง ๆ ที่ไม่จำกัดอยู่แค่เพียงการเป็น YouTuber แต่จะมีอะไรบ้างนั้น เราไปดูกันเลยดีกว่า
1. รับจ้างผลิตวิดีโอคอนเทนต์
หากใครมีความสามารถในการสร้างสรรค์ ตัดต่อ หรือถ่ายทำวิดีโอ แน่นอนว่าการรับจ้างผลิตวิดีโอคอนเทนต์ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มาแรงสุด ๆ เพราะความต้องการในการรับชมคอนเทนต์ใหม่ ๆ ของผู้ชมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาชีพนักตัดต่อวิดีโอฟรีแลนซ์ขึ้นในทุกวันนี้ ซึ่งหากใครสนใจงานประเภทนี้แน่นอนว่าต้องมีความชำนาญในเรื่องการตัดต่ออยู่พอตัว ทั้งเรื่องของการใช้เครื่องมือโปรแกรมต่าง ๆ รวมทั้งการมีเอกลักษณ์ในเรื่อง Mood & Tone ของการตัดต่อ การเล่าและเรียงลำดับเรื่องราวที่ดี จะยิ่งทำให้ผลงานของเราเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น
2. ขายคลิปวิดีโอ (Footage)
หากใครไม่ถนัดงานตัดต่อวิดีโอ แต่มีความสามารถในการถ่ายภาพเคลื่อนไหวก็สามารถนำผลงานคลิปวิดีโอของเราที่เคยถ่ายทำไว้มาสร้างรายได้ได้เช่นกัน โดยอาจเริ่มจากการถ่ายทำวิดิโอสิ่งที่เราสนใจหรือสิ่งที่เป็นความต้องการของตลาด เช่น วิดีโอใต้ท้องทะเล วิดีโอสถานที่ท่องเที่ยวที่เดินทางยากหรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม วิดีโอการทำอาหารแบบมืออาชีพ หรือวิดีโอกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา
เมื่อเรามีฟุตเทจวิดีโอที่เป็นผลงานของเรา ก็สามารถนำไปสร้างรายได้ด้วยการโพสต์ขายผ่านแพลตฟอร์มที่ให้บริการซื้อขายไฟล์ภาพและวิดีโอต่าง ๆ ได้ เช่น Shutterstock, alamy, videvo โดยมีเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่า หากอยากให้งานเราเข้าถึงผู้คนได้มากยิ่งขึ้น ควรตั้งชื่อไฟล์ให้สั้น กระชับ และสามารถอธิบายถึงเนื้อหาของวิดีโอได้อย่างชัดเจน เพียงเท่านี้เราก็สามารถสร้างรายได้จากผลงานของเราได้แล้ว
3. ต่อยอด “วิดีโอคอนเทนต์” สู่ “คอร์สเรียนออนไลน์”
หากเรามีความสามารถในการสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวที่เรามีความเชี่ยวชาญ ก็สามารถสร้างวิดีโอคอนเทนต์ให้ความรู้ได้เช่นกัน โดยอาจเริ่มจากการกำหนดคาแร็กเตอร์ให้ตัวเราเองก่อนว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านไหน และให้ความรู้สึกแบบใดกับผู้ชม ในส่วนของการนำเสนอวิดีโอก็สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การให้คำแนะนำ (How to) การให้เคล็ดลับ (Tips) และการให้ความรู้อื่น ๆ ซึ่งในเบื้องต้นอาจเริ่มจากการลงวิดีโอคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มทั่วไปอย่าง YouTube หรือ TikTok ตามกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการสื่อสาร จากนั้นหมั่นตรวจสอบกระแสและผลตอบรับ วิเคราะห์กลุ่มผู้ชม และค่อย ๆ พัฒนาคอนเทนต์และรวบรวมเนื้อหาและความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาสร้างเป็นคอร์สเรียนออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ
หลายคนอาจมีคำถามว่าคอร์สเรียนออนไลน์จะมีผู้สนใจและสามารถสร้างรายได้จริงหรือ? ในยุคที่ข้อมูลต่าง ๆ สามารถค้นหาได้ในโลกออนไลน์ คำตอบก็คือ “ได้” หลายคนยอมที่จะจ่ายเงินให้กับวิดีโอคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่พวกเขาสนใจ และยิ่งเป็นบุคคลที่พวกเขาชื่นชอบและเชื่อมั่นแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลให้ต้องปฏิเสธการใช้จ่ายในส่วนนี้ อีกทั้งเหตุผลด้าน “เวลา” ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเลือกที่จะจ่ายเงินให้กับคอร์สเรียนออนไลน์เพราะพวกเขาไม่ต้องการจะเสียเวลาค้นหาข้อมูลแบบลองผิดลองถูกบนโลกออนไลน์นั่นเอง
ตัวอย่าง
- วิดีโอแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ “การดำเนินการขายสินค้าและบริการ” โดย ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี CEO ร้านชาบู Penguin Eat Shabu ที่เริ่มจากการแบ่งปันเรื่องราวการดำเนินธุรกิจสู่การต่อยอดเป็นหนึ่งในวิทยากรใน “หลักสูตรอีคอมเมิร์ซ” โดย ETDA
- วิดีโอแบ่งปันความรู้ด้านกฎหมายดิจิทัล “สนทนาประสาธุรกรรมอิเล็กกทรอนิกส์กับ ETDA” โดย ทีม ETDA เพื่อให้เข้าใจถึงกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ปูพื้นฐานตั้งแต่ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์คืออะไร ไปจนถึงการใช้งาน e-Document, e-Signature, Digital ID ซึ่งเป็นระบบงานและพื้นฐานที่จำเป็นหากหน่วยงานต้องการเปลี่ยนระบบงาน ด้วยการดำเนินงานที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานต่าง ๆ ซึ่ง ETDA จะต่อยอดไปสู่คอร์สบนแพลตฟอร์ม ADTE by ETDA ในเดือนมิถุนายน 2564 นี้
4. การสร้างช่อง YouTube ของตัวเอง
วิธีสร้างรายได้จากวิดีโอที่เรามักคุ้นเคยและได้ยินบ่อยที่สุด คือ การเปิดช่อง YouTube ของตัวเอง โดยถ้าหากไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงสร้างสรรค์วิดีโอจากตรงไหน กำหนดทิศทางของคอนเทนต์ช่องเราอย่างไร สามารถศึกษาเคล็ดลับง่าย ๆ ได้ที่
5 STEP ทำ Video Content ให้สุดปัง แบบง่าย ๆ สไตล์มือใหม่ก็ทำได้
สิ่งสำคัญของการสร้างช่อง YouTube ของตัวเอง คือ ความสม่ำเสมอในการอัปโหลดวิดีโอคอนเทนต์ และความพยายามในการเพิ่มจำนวนผู้ติดตามให้มากกว่า 1,000 คน เพื่อที่จะสามารถเป็นช่องที่สร้างรายได้ด้วยการเป็นพาร์ตเนอร์ของ YouTube ได้นั่นเอง โดยการสร้างรายได้จาก YouTube มีหลากหลายรูปแบบ เช่น
- สร้างรายได้จากโฆษณา รับรายได้จากจำนวนผู้ชมที่เข้ามารับชมวิดีโอและได้เห็นโฆษณาแบบดิสเพลย์ โฆษณาซ้อนทับ และโฆษณาวิดีโอ ที่ปรากฏในวิดีโอของเรานั่นเอง
- รายได้จากการเปิดโอกาสให้ผู้ชมเป็น “สมาชิกของช่อง” การเปิดให้ผู้ชมสามารถกดกด Join หรือเป็น YouTube Membership ของช่องเพื่อให้การสนับสนุนแบบรายเดือนแลกกับสิทธิพิเศษที่ช่องของเราจะมอบให้ เช่น การได้รับชมคลิปวิดีโอก่อนผู้ชมแบบทั่วไปหรือวิดีโอคลิปที่เปิดให้ชมเฉพาะผู้ให้การสนับสนุนช่องโดยเฉพาะ หรือการได้ใกล้ชิดกับเจ้าของช่องได้มากขึ้นกว่าผู้ชมคนอื่น ๆ
- รายได้จาก “สปอนเซอร์” การโปรโมตสินค้าผ่านวิดีโอคอนเทนต์ที่เราผลิตให้แบรนด์ต่าง ๆ โดยสปอนเซอร์ส่วนใหญ่จะพิจารณาจ้างงานผู้ผลิตคอนเทนต์จากเนื้อหาช่องว่าตรงกับกลุ่มเป้าหมาย แผนการตลาด และภาพลักษณ์ของแบรนด์หรือไม่นั่นเอง
4 วิธีสร้างรายได้ใน “วงการวิดีโอคอนเทนต์” เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้จากโลกออนไลน์ ที่แน่นอนว่าหลายคนก็เห็นโอกาสตรงจุดนี้เช่นกัน สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านรายได้จากการผลิตสื่อออนไลน์คือ
การมีจุดเด่น และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ยึดติดกับแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเพียงอย่างเดียว
เราต้องมีความกระตือรือร้นและกล้าที่จะศึกษาทดลองแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อให้เท่าทันกับเทรนด์การรับชมของผู้ชมหรือให้สามารถเข้าถึงผู้ชมกลุ่มเป้าหมายของเราได้มากที่สุด แม้ในช่วงเริ่มต้นการสร้างวิดีโอคอนเทนต์อาจจะเป็นเพียงงานอดิเรกยังไม่ใช่ช่องทางหลักในการสร้างรายได้ แต่หากเราสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จนมีผู้ติดตามผลงานของเราในระดับหนึ่ง สิ่งนี่ก็สามารถกลายมาเป็นอาชีพหลักให้กับคนหลายคนได้แล้วเช่นกัน
ที่มา:
รายงานผลการสำรวจพฤติิกรรมผู้้ใช้้อิินเทอร์์เน็็ตในประเทศไทย ปี 2563
มีสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับทุกคน: คนไทยกำลังดูอะไรบน YouTube (thinkwithgoogle.com)
https://www.omnicoreagency.com/youtube-statistics/
กระทรวงศึกษาธิการ จับมือ TikTok ต่อยอดความสำเร็จแคมเปญ #TikTokUni เดินหน้ายกระดับการศึกษาไทยบนโลกออนไลน์ - techhub
วิธีสร้างรายได้จาก YouTube
ภาพรวมและคุณสมบัติในการมีสิทธิ์เข้าร่วมโปรแกรมพาร์ทเนอร์ YouTube
fiverr
การสร้างรายได้จาก “วงการวิดีโอคอนเทนต์” ไม่จำกัดอยู่แค่เพียงการเป็น YouTuber